บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเพื่อส่งมอบนวัตกรรม Cloud ให้แก่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เสริมประสิทธิภาพในการรับมือโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ส่งข้อมูลทางการแพทย์ผ่านเครือข่ายความเร็วสูง และบริการสนับสนุนจากทีมหัวเว่ยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสนามแห่งอนาคต
สืบเนื่องจากการที่สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยได้ประกาศความร่วมมือระหว่างแพทยสภาและองค์กรพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกว่า 49 องค์กรเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการร่วมกันพัฒนาโซลูชันอัจฉริยะสำหรับช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลสนามของประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้จับมือกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมสนับสนุนระบบ Cloud Data Storage ให้แก่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งจะประกอบไปด้วย บริการ Private Cloud แบบเสมือน (Virtual Private Cloud) ที่จะทำให้หน่วยงานหรือองค์กรทางการแพทย์ในพื้นที่สามารถสร้าง Cloud ส่วนตัวสำหรับใช้กันเองภายในหน่วยงานได้ และเซิร์ฟเวอร์สำหรับรองรับการให้บริการ Private Cloud ของบุคลากรการแพทย์ในพื้นที่โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีระบบจัดเก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูงขนาดความจุ 4,000 กิกะไบต์ การเชื่อมต่อเครือข่ายและการรับส่งข้อมูลขนาด 8192.0 กิกะไบต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมให้บริการคำแนะนำ โดยระบบ Cloud ดังกล่าวนี้จะสามารถตอบโจทย์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการรับส่งข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ ได้
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า “เทคโนโลยี Cloud จากหัวเว่ยจะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้แก่ภาคสาธารณสุขไทยในด้านระบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ยกระดับความต่อเนื่องและการรักษามาตรฐานการใช้งาน รวมทั้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้น สามารถส่งข้อมูลทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วผ่านโครงข่ายความเร็วสูง และยังมีทีมสนับสนุนของหัวเว่ยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน นอกจากนี้ การที่หัวเว่ยมีศูนย์ข้อมูลเพื่อการให้บริการ Cloud สำหรับตลาดประเทศไทยโดยเฉพาะ ทำให้บริการคลาวด์ของหัวเว่ยมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง ทั้งยังมีค่าความหน่วง (latency) ต่ำอีกด้วย”
“ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจของหัวเว่ยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand) ในฐานะที่เป็นพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยี เป็นผู้มีส่วนร่วมทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งความท้าทายท่ามกลางโรคระบาดนี้ โดยหัวเว่ยจะยืนเคียงข้างประเทศไทย และช่วยเปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาสใหม่ ๆ จากการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Cloud AI และ 5G เข้ามาช่วยรับมือกับความท้าทายในภาคสาธารณสุข ทั้งนี้ เราต้องขอขอบคุณสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย รวมไปถึงแพทยสภาและโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ที่ช่วยมอบโอกาสให้ทางหัวเว่ยสามารถทำประโยชน์ให้แก่คนไทยตามพันธกิจของเราได้” เขากล่าวเสริม
“สภาดิจิทัลฯ ขอขอบคุณ บริษัท หัวเว่ย ในฐานะพันธมิตรองค์กรดิจิทัลที่ร่วมสนับสนุน โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ด้วยความเอื้อเฟื้อระบบ Cloud รวมทั้งการให้คำปรึกษาแก่ทีมแพทย์และบุคลากร อันเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานและกิจกรรมต่าง ๆ ทางการแพทย์ ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และศูนย์ฉีดวัคซีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 นี้ ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ รวมถึงสมาชิกสภาฯ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องที่จะเป็นสื่อกลางร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ในการสนับสนุนแพทยสภา และทีมแพทย์ ในการนำอุปกรณ์ระบบโครงสร้างโทรคมนาคม และเทคโนโลยีโซลูชันดิจิทัลต่าง ๆ มาร่วมพัฒนาให้โรงพยาบาลสนามต้นแบบ ทั้งจุฬาฯ ทหารอากาศ ดอนเมือง และ ธรรมศาสตร์ เป็นโรงพยาบาลสนามต้นแบบที่สมบูรณ์ และพร้อมที่จะส่งมอบในเร็ววันนี้” นางสาวอรมดี ปุรผาติ ปฏิคมสภาดิจิทัลฯ และ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ สภาดิจัลฯ ร่วมกล่าว
ในฐานะที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นพาร์ทเนอร์ด้าน ICT ที่ได้รับความไว้วางใจในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานถึง 22 ปี หัวเว่ยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้ทุ่มเทให้กับการมอบคุณค่าทางสังคมให้ประเทศไทยมาโดยตลอดในยุคนิวนอร์มัล โดยหัวเว่ยได้ส่งมอบวัตกรรมการสื่อสารทางไกล 5G เพื่อการแพทย์ ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยอัจฉริยะ และระบบโครงข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายบรอดแบนด์ eLTE ให้แก่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และในปี พ.ศ. 2563 ยังได้ส่งมอบระบบวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เพื่อการแพทย์ให้แก่กรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งได้ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับรายงานผลตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) โควิด-19 ซึ่งทำงานบนเทคโนโลยี Cloud และ 5G ของหัวเว่ยให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช
Related