ตรวจอุจจาระ คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ง่าย เร็ว สะดวก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 3 ของไทย ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึงแม้ไม่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย เพื่อลดโอกาสการเจอมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลาม

นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีได้ตั้งแต่เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ ท้องผูก ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ซึ่งลักษณะอาการเหล่านี้จะแสดงก็ต่อเมื่อเราเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว แต่โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่สามารถตรวจคัดกรองได้ หากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลามได้ 

โดยแนะนำประชาชนทั่วที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรืออายุ 40 ขึ้นไปและมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่ไม่ยุ่งยาก คือ วิธีการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Stool Occult Blood) โดยเป็นการหาฮีโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง และ สารทรานสเฟอร์ริน (Transferrin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดที่มีความคงตัวสูง ทำให้ผลการตรวจมีความแม่นยำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ 

วิธีการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ง่าย เร็ว และสะดวก เนื่องจากใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็สามารถทราบผลได้ โดยผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบเท่านั้น หากผลเป็นลบหมายถึงไม่พบความผิดปกติ อย่างไรก็ดี กรณีตรวจคัดกรองด้วยการตรวจอุจจาระแนะนำให้ตรวจติดตามอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งทุกปี แต่หากผลเป็นบวก หมายถึงพบความผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทางทวารหนักต่อ เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

“ วิธีเก็บตัวอย่างอุจจาระเหมาะสำหรับผู้ที่กลัวการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีอาการที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะวิธีนี้เป็นการตรวจคัดกรอง หากเริ่มมีอาการแล้วควรเข้ารับการตรวจส่องกล้อง จะเป็นการตรวจที่เหมาะสมมากกว่า ” นายแพทย์สุขประเสริฐกล่าว

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากติ่งเนื้อหรือ Polyp ในลำไส้ใหญ่ ดังนั้นการตรวจส่องกล้องร่วมกับเทคนิคการย้อมสีพื้นผิวและเส้นเลือดของติ่งเนื้อ ด้วยแสงชนิดพิเศษที่เรียกว่า Magnify Narrow Band Imaging ซึ่งสามารถบอกได้เบื้องต้นว่า ติ่งเนื้อที่พบมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หรือเป็นติ่งเนื้อธรรมดา เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป