TMRW คว้ารางวัลธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในไทยและอินโดนีเซีย จาก International Finance

TMRW โดยธนาคารยูโอบี คว้ารางวัลธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดทั้งในประเทศไทยและอินโดนีเซีย จากงาน International Finance Awards 2021 นับเป็นรางวัลที่ 33 ที่ได้รับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รางวัลนี้จัดโดย International Finance ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ด้านการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศที่ผู้บริหารระดับสูงในตลาดสำคัญๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้

ความมุ่งมั่นในการสร้างความผูกพันกับลูกค้าของ TMRW ซึ่งสะท้อนอยู่ในกลยุทธ์การเติบโตและประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ ทำให้ TMRW แตกต่างจากธนาคารดิจิทัลอื่นๆ ในอินโดนีเซียและประเทศไทย ในเวลาเพียง 2 ปีกว่านับจากการเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 และเพียงแค่ 10 เดือนนับจากการเปิดตัวในอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคม 2563 TMRW แสดงผลการดำเนินการโดดเด่นในการเพิ่มฐานลูกค้าระดับภูมิภาคของยูโอบี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ลูกค้า TMRW คิดเป็น 1 ใน 5 ของลูกค้ารายย่อยทั้งหมดของธนาคารในประเทศไทยและอินโดนีเซีย

นิตยสาร International Finance กล่าวว่านับตั้งแต่เปิดตัว TMRW ได้ขยายฐานลูกค้าไปถึงกว่า 300,000 ราย และประสบความสำเร็จในการดึงดูดลูกค้าคนรุ่นใหม่ให้มาใช้บริการ จากการมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่า TMRW ได้ขึ้นมาเป็นธนาคารดิจิทัลระดับแถวหน้าทั้งในไทยและอินโดนีเซีย นิตยสาร International Finance จึงขอมอบรางวัลธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในประเทศไทย และรางวัลธนาคารดิจิทัลที่ดีที่สุดในอินโดนีเซีย ให้กับ TMRW

นายเควิน แลม Head of TMRW Digital Group and UOB Digital ธนาคารยูโอบีกล่าวว่า “ในฐานะธนาคารที่มุ่งมั่นพลิกโฉมธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซียและประเทศไทย เป้าหมายหลักของเราคือการนำเสนอประสบการณ์ธนาคารที่ใช้งานง่าย การให้ลูกค้ามีส่วนร่วม และความโปร่งใส รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติและแรงกำลังใจสำคัญที่เน้นย้ำว่าคณะกรรมการตัดสินนานาชาติของ International Finance Awards เห็นถึงความพยายามของเรา และได้ตัดสินใจมอบรางวัลชนะเลิศให้ธนาคารในทั้งสองประเทศที่ TMRW ดำเนินธุรกิจอยู่”

เนื่องจาก TMRW ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้า เราจึงคำนึงถึงคะแนนความพึงพอใจของลูกค้า หรือ NPS (Net Promoter Scores) ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดผลการดำเนินการสำคัญของธนาคารดิจิทัล คะแนน NPS ของ TMRW ในอินโดนีเซียยืนอยู่เหนือระดับ 50 คะแนนมาตลอด ส่วนในประเทศไทย TMRW ได้คะแนน NPS มากกว่า 40 คะแนน นับเป็นที่หนึ่งในกลุ่มธนาคารต่างชาติและเป็นที่สองหากดูภาพรวมทั่วประเทศ คะแนน NPS นี้เป็นเครื่องมือชี้วัดที่เป็นกลางที่อุตสาหกรรมใช้วัดความ พึงพอใจของลูกค้าและความเป็นไปได้ที่จะแนะนำ TMRW แก่ผู้อื่น

เมื่อลูกค้าแนะนำ TMRW ให้คนใกล้ตัวมาใช้มากขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้าของธนาคารแล้ว ยังช่วยให้ธนาคารรูปแบบนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นด้วย และเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านความคุ้มทุนให้ดียิ่งขึ้น TMRW จึงมุ่งขยายระบบนิเวศธุรกิจของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการและโซลูชันเฉพาะบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลสำหรับทุกๆ ด้านของชีวิต เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2564 ฐานลูกค้าของ TMRW เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้าของธนาคารดิจิทัลลดลงร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

นายแลมยังกล่าวต่อว่า “สำหรับระยะที่สองนี้ TMRW ตั้งเป้าปรับเปลี่ยนการลดต้นทุนเป็นการขยายธุรกิจ (scaling) และการพัฒนาบริการธนาคารดิจิทัลเชิงพาณิชย์ (commercialising) ให้ทั่วภูมิภาคอาเซียน เป้าหมายหลักของเรายังคงเป็นการกระชับความผูกพันกับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกปฏิสัมพันธ์ ผ่านการพัฒนาโซลูชันอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้า อีกทั้งยังขยายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของธนาคารในระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองทุกความต้องการด้านไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ เรายังคงใช้ประโยชน์จากรูปแบบธุรกิจแบบลีน (lean business model) โดยส่งต่อศักยภาพที่พัฒนาขึ้นไปปรับใช้ทั่วองค์กรและเข้าเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อให้เราพร้อมก้าวข้ามขอบเขตนวัตกรรมการธนาคารเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างคุ้มทุน”