ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ในไตรมาส 2 ของปี 2564 จำนวน 8,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 21,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการปรับตัวลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคาร สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 18,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาส 2 ของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,475 ล้านบาท ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันและการมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.0% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการขยายฐานรายได้ประเภทที่เกิดขึ้นเป็นประจำ (recurring) จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,376 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 2 ของปี 2564 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 42.2%
จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 10,028 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2564 และเป็นจำนวน 20,036 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรก
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ 3.79% สะท้อนถึงการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพเชิงรุกของธนาคาร อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 142.3% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.9%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ด้วยดีจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายและผันผวนเช่นนี้ ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินต่าง ๆ และผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคาร รวมถึงการยกเว้นค่าบริการส่งอาหารบนแพลตฟอร์มส่งอาหารโรบินฮู้ดของธนาคารภายใต้แนวคิด “สังคมอยู่รอด ธนาคารก็จะรอดไปด้วย” นอกจากนี้ธนาคารได้เตรียมความพร้อมสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จเพื่อช่วยให้ลูกค้าอยู่รอดและฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้แบบยั่งยืนให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงหาโอกาสทางธุรกิจหลังยุควิกฤตโควิด-19 โดยต่อยอดธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง และนำเสนอประสบการณ์ธนาคารดิจิทัลแห่งอนาคต ควบคู่ไปกับการยกระดับความผูกพันกับลูกค้าให้ครอบคลุมมากกว่าธุรกิจการเงิน” |