บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 แบบออนไลน์ นำโดย นายปีเตอร์(ซุยฮัง) กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการบริหาร รายงานผลประกอบการที่เติบโตขึ้นตามลำดับโดยเตรียมจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นบางกอกแลนด์ในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท ซึ่งลดลงร้อยละ 50 จากปีที่ผ่านมา เงินปันผลที่ได้ประกาศไปนี้จะได้นำเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 49 ในวันนี้ โดยรายงานในปีนี้เป็นปีที่ท้าทายอีกหนึ่งปีสำหรับบริษัท สืบเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
นายปีเตอร์ (ซุยฮัง) กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ถือครองหน่วยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท เป็นจำนวน 741,250,000 หน่วย บันทึกต้นทุนสุทธิที่ 10.60 บาทต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่า 7,857 ล้านบาท ซึ่งได้แสดงไว้ในรายงานประจำปีฉบับนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ราคาปิดของราคาตลาดต่อหน่วยเป็น 19.40 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนร้อยละ 83.0 รวมถึงบริษัทได้ทำการขายที่ดิน (ศรีนครินทร์) ให้กับบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกัน เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 14,822 ล้านบาท ซี่งได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเรียบร้อยไปแล้วเป็นจำนวนรวม 14,680 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่ต้องทำการโอนกรรมสิทธิ์อีกคิดเป็นมูลค่า 142 ล้านบาท” นายปีเตอร์ กล่าว
“จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ในปีนี้ ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากอีกครั้งหนึ่งจากประกาศของรัฐบาลที่ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจต้องหยุดพักการดำเนินการเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 สืบเนื่องจากการติดเชื้อรายวันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดงานต่างๆ ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค ถูกเลื่อนออกไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกลับมาดำเนินการจัดงานต่างๆ ได้อีกเมื่อใด อย่างไรก็ดี บริษัทมีความยินดีที่ได้มีส่วนช่วยเหลือโดยให้ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็คเป็นหนึ่งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวที่สำคัญขนาด 5,200 เตียง ซึ่งบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นกำลังสนับสนุนส่วนหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้” นายปีเตอร์ กล่าวเสริม
ผลประกอบการ ในปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 กลุ่มบริษัทได้รายงานผลขาดทุนรวมจากการดำเนินธุรกิจปกติเป็นจำนวน 213 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิหลังหักรายการพิเศษและภาษีเป็นจำนวน 801 ล้านบาท
ฐานะการเงินของกลุ่มบริษัทมีการเติบโตอย่างแข็งแรง ดังมีรายละเอียดยืนยันต่อไปนี้
- มูลค่าสินทรัพย์สุทธิหลังปรับปรุง ลดลง 1.7% เป็น 48,632 ล้านบาท (ปี 2563 – 49,481 ล้านบาท)
- มูลค่าสินทรัพย์สุทธิหลังปรับปรุงต่อหุ้น ลดลง 1.8% เป็น 2.80 บาทต่อหุ้น (ปี 2563 – 2.85 บาทต่อหุ้น)
- กำไรสุทธิในส่วนของบริษัทใหญ่ ลดลง 165.8% เป็นขาดทุนสุทธิ 801 ล้านบาท (ปี 2563 – กำไรสุทธิ 1,217 ล้านบาท)
- กำไรต่อหุ้น ลดลง 165.7% เป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.046 บาท (ปี 2563 – กำไรต่อหุ้น 0.070 บาท)
- สินทรัพย์รวม ลดลง 0.6% เป็น 62,850 ล้านบาท (ปี 2563 – 63,244 ล้านบาท)
- ส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลง 2.6% เป็น 44,598 ล้านบาท (ปี 2563 – 45,767 ล้านบาท)
“ตามที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 บริษัทจะยังคงใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากต่อการลงทุนในอนาคตจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น บริษัทจะมุ่งจัดการสินค้าที่ยังคงมีค้างอยู่ และปรับปรุงสถานที่เช่าที่บริษัทมีอยู่ในหลายโครงการเป็นหลัก ในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีมติอนุมัติการสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามาในเมืองทองธานี โดยจะมี 2 สถานีเชื่อมต่อกับอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และที่ดินรอบทะเลสาบ สิ่งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาเมืองทองฌธานีอย่างมหาศาล ถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจจะยังมีความไม่แน่นอนก็ตาม บริษัทได้ตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างต่อไปส่วนของโรงเรียนศิลปะการทำอาหารเลอโนท ประเทศไทย (Lenôtre – Culinary Arts School) ที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งมีกำหนดการเปิดในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2565
ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ผมคาดว่าปีต่อจากนี้ไปจะเป็นปีที่ยากลำบากของเศรษฐกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากสถานะที่ปราศจากหนี้สิน และกระแสเงินสดที่มั่นคง ประกอบกับความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัท บางกอกแลนด์ จะยังคงยืนหยัดท่ามกลางแรงกดดันและความท้าทายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่แน่นอนจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19″ นายปีเตอร์ กล่าวสรุป