จากภาวะที่บรรดาบริษัทต่างๆ ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลจีน สร้างแรงกระเพื่อมส่งผลต่อตลาดทุนอย่างชัดเจน จะเห็นชัดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงหนักต่อเนื่องเมื่อช่วงปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นการศึกษา รวมไปถึงหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน จึงเกิดความวิตกกังวลในหมู่นักลงทุนว่าหน่วยงานกำกับอาจจะเพิ่มกฎเกณฑ์การควบคุม หรืออาจจะขยายขอบเขตการควบคุมไปยังอุตสาหกรรมอื่นหรือไม่ และนักลงทุนควรวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เลยเป็นที่มาของประเด็นพูดคุย “เมื่อจีนกวาดบ้านกระทบตลาดหุ้น นี่คือโอกาส หรือ ความเสี่ยง ในหุ้นจีน” ในห้องสนทนาสุดฮิต Clubhouse โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากกรุงศรี และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนร่วมวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความกระจ่างพร้อมชี้แนวทางให้กับนักลงทุน
หากวิเคราะห์สถานการณ์ของจีนจากภาวะที่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลจีน ผู้ลงทุนต้องรู้อะไรบ้างนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน เปิดเผยว่า ด้วยเหตุผลด้านการปกครองเพื่อรักษาเสถียรภาพและการจัดระเบียบสังคมของจีนที่เป็นประเทศใหญ่และมีความหลากหลายมาก ทำให้ระบบแบบจีน (Socialism Chinese Characteristics) จะเป็นรัฐกำกับทุน หรือทุนนิยมโดยรัฐ เป็นกลไกหลักที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการที่จีนเข้ามาแทรกแซงธุรกิจต่างๆ เสมือนเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
ยกตัวอย่างกรณีเข้มงวดกับโรงเรียนกวดวิชา เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นและซ้ำซ้อนกับการเรียนภาคปกติ แต่กลับเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง รวมทั้งยังต้องการลดอิทธิพลของหลักสูตรการเรียนการสอนของต่างชาติ หรือกรณี Tencent ทำธุรกิจเกมที่จีนเข้ามาแทรกแซงเพื่อปกป้องอนาคตของชาติ แม้กระทั่งเรื่อง Ant Group ของ Alibaba ที่ใช้ DATA มาสร้างประโยชน์มหาศาลก็จริง แต่ก็ทำให้ประชาชนอาจมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมเงินที่ง่ายจนเกินไป ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม เกิดหนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ และกระทบกับความมีเสถียรภาพ
ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าจีนยังเน้นกวาดบ้านต่อ หรือรัฐบาลน่าจะเข้ามาดูแลจัดการผ่านสำนักงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China: CAC) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางสังคม ธุรกิจที่มีโอกาสเอาเปรียบหรือผูกขาด และในมุมของนักธุรกิจจีนก็พร้อมยินยอมปฏิบัติตาม คนจีนเองก็ยอมรับในการจัดระเบียบสังคมที่จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าข้อดีของระบบเศรษฐกิจจีนนั้น คือความมีเอกภาพระบบของจีนที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนไปมา ไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน อีกทั้งเศรษฐกิจจีนกำลังขับเคลื่อนด้วย DATA ซึ่งคุณวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตเป็นบวก เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2564 โต 18.3% ขณะที่โลกยังไม่ฟื้นจากโรคระบาด แต่ในไตรมาส 3-4/2564 อาจจะชะลอตัวลงบ้าง มีการเติบโตของภาคค้าปลีกถึง 33% ยอดการส่งออกพุ่ง 38.7% มีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยบวกในตลาดหุ้นอย่างมาก
ขณะเดียวกันก็มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น เม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้ามาอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายเกี่ยวกับการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประชากรมีการขยับมาเป็น Middle Class ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคต อีกทั้งพรรคการเมืองแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพอย่างมาก นั่นทำให้มองเห็นโอกาสของการลงทุนในจีนอยู่ แต่ในส่วนการลงทุนภาคตลาดทุนนั้น คุณวินมองว่าการที่ตัวเลขดิ่งลงในช่วงเวลาที่รัฐประกาศมาตรการใดๆ ออกมาและนักลงทุนไม่มั่นใจนั้น อาจสะท้อนว่ายังมีโอกาสที่จะกลับมาทะยานขึ้นได้หากสถานการณ์คลี่คลาย
ดังนั้น ช่วงเวลาที่หลายคนกำลังตระหนกตกใจและมีความลังเล อาจเป็นสัญญาณที่ดีที่จะมองข้ามเรื่องที่ตกใจเพื่อคว้าโอกาสการลงทุนนี้ให้ได้และยังชี้ช่องโอกาสเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนผ่านกองทุนรวม ซึ่งได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยง อีกทั้งจากสถิติยังพบว่าหลายครั้งที่หุ้นตกแรงก็สามารถดีดตัวขึ้นแรงเช่นกัน จึงควรแบ่งน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสม และเช็คความเสี่ยงให้พอดี ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และอยากให้นักลงทุนเล็งเห็นโอกาสที่จีนเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีของตัวเอง ทั้งพัฒนาระบบนำทาง ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้จีนไปได้อีกไกล นักลงทุนควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้และรู้จักแปลงจีนเป็นโอกาส
ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นทุกวินาที รองศาสตราจารย์ ดร. อักษรศรี กล่าวว่า จีนก็ยังมีเรื่องน่ากังวล เช่น หนี้จีน หนี้ภาคครัวเรือนสูง และรัฐวิสาหกิจจีนที่ขาดทุน ภาระเชิงนโยบายต่างๆ ซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องระวังด้วยเช่นกัน จึงแนะนำวิธีติดตามข่าวจีน รับรู้กฎระเบียบจากสื่อจีน ทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ซึ่งสื่อจีนตอนนี้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ในขณะที่ตัวแปรที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือสถานการณ์จีน-สหรัฐฯ ที่มีการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ อีกทั้งยังกล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ต้องระวัง “บริษัทซอมบี้จีน” หรือบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรต่ำและหนี้สินที่สูงในระยะยาวพร้อมแนะนำหรือมีคำเตือนสำหรับนักลงทุนว่าควรระแวดระวังการลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยละเอียดอ่อนที่จีนจะไม่ยอมอ่อนข้ออย่างเด็ดขาด นั่นคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับซินเจียง ฮ่องกง ไต้หวัน ทิเบต และทะเลจีนใต้
นอกจากการเน้นให้ความรู้อย่างรอบด้านแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ฟังเกือบ 700 คน ร่วมสอบถามปัญหาในเรื่องที่ยังมีความสงสัย เช่น ตลาดจีนยังเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนให้ความเห็นว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะใหญ่ขึ้น แต่ก็ไม่ง่ายที่เอสเอ็มอีไทยจะเจาะตลาดได้ จึงต้องดูที่รสนิยมต้องออกแบบและเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสม ส่วนสินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ กลุ่มของขวัญของชำร่วยและอัญมณี อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะจากผู้ฟังว่าอุตสาหกรรมที่ต้องระวัง นอกจากสถาบันกวดวิชา มาตรการแก้ความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังมีด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต ระบบรางของเอกชน และมองว่าการที่หุ้นจีนดิ่งลงอาจจะเป็นการลดพอร์ตเพื่อไปตั้งหลักมากกว่า
นับเป็นการพูดคุยที่สร้างกำลังใจให้กับนักลงทุนด้วยข้อมูลแน่นปึกและมีเหตุผลรองรับที่น่าเชื่อถือ จึงน่าจะเป็นปัจจัยและพื้นฐานให้นักลงทุนนำไปวิเคราะห์ปรับใช้กับการพิจารณาลงทุนหุ้นจีนและปรับพอร์ตของตัวเองได้เป็นอย่างดี
ติดตามฟังข้อมูล ความรู้ และน่าสาระบันเทิงที่น่าสนใจ ได้ที่ Clubhouse: Krungsri Simple หรือ Krungsri Plearn เพลิน Podcast เรื่องเงิน เรื่องง่าย ฟังได้เพลินเพลิน