Jubilee โชว์ความแข็งแกร่งฝ่าวิกฤติโควิด-19 ครึ่งปีแรกของปี 64 ยอดขาย-กำไร โตต่อเนื่อง พร้อมอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.15 บาทต่อหุ้น

Jubilee ส่องประกายแข็งแกร่งฝ่าวิกฤติโควิด-19 โชว์ผลงานไตรมาส 2 ปี 2564 ด้วยยอดขาย 270.5 ล้านบาท เติบโต 7.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ครึ่งปีแรกผลการดำเนินงานเติบโต 9.6% พร้อมกวาดกำไร 87.9 ล้านบาทในครึ่งปีแรก ถึงแม้พบกับวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ต้นปี สบช่องห้างสรรพสินค้ายังเปิด ลุยจัดโปรโมชันกระตุ้นลูกค้าทั้งหน้าสาขาและช่องทางออนไลน์ มุ่งมั่นมองหาช่องทางและโอกาสใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย บอร์ดเคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.15 บาทต่อหุ้น

นางสาวอัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Jubilee (ชื่อย่อหุ้น : JUBILE) เปิดเผยว่า “ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อการดำรงชีวิตและภาวะเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาพรวมของการดำเนินธุรกิจ แต่ Jubilee ยังคงมุ่งมั่นในการมองหาช่องทางและโอกาสใหม่ๆ เพื่อการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิ การสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ทั้งหน้าสาขาและทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง การใช้สื่อดิจิตัลที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น การ Live แนะนำผลิตภัณฑ์และโปรโมชันเด่นๆ รวมถึงการศึกษาพฤติกรรมความต้องการของลูกค้า เพื่อปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยที่ผ่านมาเรามีการปรับตัวโดยไม่หยุดนิ่ง จึงทำให้ Jubilee มองเห็นโอกาสและตลาดที่มากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสในการรุกตลาดออนไลน์อย่างเต็มสูบ”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของJubilee แต่ในไตรมาส 2 ของปี 2564 ที่ผ่านมา Jubilee ยังคงเดินหน้าสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีรายได้ 270.5 ล้านบาท เติบโต 7.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้ 251.8 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 อยู่ที่ 26.6 ล้านบาท ลดลง 26.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 36.2 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าและบุคลากรที่ไม่ได้รับการยกเว้นดั่งเช่นไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่ห้างสรรพสินค้าหยุดดำเนินการ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 675.8 ล้านบาท เติบโต 9.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 616.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 87.9 ล้านบาท เติบโตสุทธิ 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 82.5 ล้านบาท

“Jubileeได้สร้างปรากฎการณ์ยอดขายและกำไรต่อเนื่อง แม้ยังเผชิญกับโควิด-19  ถึงแม้ว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ปีนี้จะหนักมากกว่าปีที่แล้วมาก แต่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 สาขาภายในห้างยังคงเปิดดำเนินการได้ บริษัทฯจึงได้วางแผนและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กลุ่มลูกค้า และช่องทางการจัดจำหน่าย ส่งผลให้ยอดขายในสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศยังเติบโตได้พอสมควร โดยเฉพาะในสาขาต่างจังหวัด และมากไปกว่านั้น Jubilee ยังมีการรับมือผ่านช่องทางการขายที่เพิ่มขึ้น เช่น การจัดโปรโมชันทางออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งสัดส่วนยอดขายผ่านสาขาเติบโต 3.8% และยอดขายผ่านออนไลน์เติบโต 3.4% และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างการจากผลประกอบการงวดเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท” นางสาวอัญรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ในปี 2564 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของ Jubilee ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรวมถึงกำลังซื้อของผู้คนที่เริ่มมีการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่อย่างก็ตามภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น Jubilee ยังคงวางกลยุทธ์และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การกระตุ้นยอดขายผ่านทางโปรโมชั่นทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่หลากหลายเพื่อการเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่และมีกำลังซื้อรวมถึงชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์ จนส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับในปี 2563

นางสาวอัญรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด สิ่งที่Jubilee ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การเตรียมพร้อมในการรับมือสิ่งต่าง ๆ และหาแนวทางการตลาดใหม่ๆ และสินค้าที่มีคุณภาพ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของบุคคลากร พร้อมเฝ้าระวังถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เช่น การควบคุมต้นทุนสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเริ่มต้นในไตรมาสที่ 3 ก็ต้องเผชิญกับการปิดห้างสรรพสินค้า โดยการปิดห้างสรรพสินค้าในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด กินสัดส่วนจำนวนสาขาประมาณ 55% และประชาชนยังคงกังวลกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยคาดหวังว่าในไตรมาสที่ 4 หากสถานการณ์ดีขึ้นและห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดได้เป็นปกติจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจเหมือนในปีก่อน ซึ่งจะต้องติดตามการฉีดวัคซีนและยอดผู้ติดเชื้อ เพื่อประมาณสถานการณ์รายวัน