BEAUTY เผยผลประกอบการ Q2/64 รายได้รวม 81.74 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 42.7% แนวโน้มครึ่งปีหลังยังคงได้รับผลกระทบโควิด-19 เดินหน้าตามแผน ลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย รักษาสภาพคล่องกระแสเงินสดในเกณฑ์ดี เตรียมพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่พร้อมลุยหลังโควิด-19 คลี่คลาย
นพ.สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ผู้นำธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม สุขภาพและบำรุงผิวด้วยแนวคิด Live a beautiful life เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/64 บริษัทมีรายได้รวม 81.74 ล้านบาท ลดลง 36.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 128.93 และลดลง 40.5% จากไตรมาส 1/64 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 137.41 ล้านบาท ขาดทุนทางบัญชีสุทธิ 35.18 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 42.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ที่ 61.36 ล้านบาทโดยสัดส่วนรายได้มาจากต่างประเทศ 21% ตลาดในประเทศ 79%
ทั้งนี้ผลขาดทุนทางบัญชี 35.18 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียวที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (Non-routine expenses) จำนวน 21.51 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการตั้งค่าเผื่อสินค้าเสื่อมสภาพ (Stock Provision) 14.45 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายจากการปิดสาขาที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำกำไร 5.69 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานจากการปรับฐานกำลังคน 1.37 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทมีผลประกอบการจากการดำเนินงานในไตรมาส 2 ขาดทุนอยู่ที่ 13.67 ล้านบาท
สาเหตุที่ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวลดลง เนื่องจากทุกช่องทางการจำหน่ายของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ระบาดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยตลาดในประเทศ ช่องทางร้านค้าปลีกยอดขายลดลงเนื่อง ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยลดลง จำนวนลูกค้าในห้างน้อยลงอย่างมาก นักท่องเที่ยวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวบริษัทดำเนินการปิดสาขาร้านค้าปลีกที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำกำไรและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลงจำนวน 62 สาขา จากต้นปี 64 มีสาขา 113 สาขาซึ่งทำให้ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 51 สาขา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ลดลง เช่น ค่าเช่าร้านค้า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายลดลง
สำหรับช่องทางสินค้าอุปโภค (consumer product ) ไม่ว่าจะเป็น โมเดิร์นเทรด เจอร์เนอร์รัลเทรด ได้รับผลกระทบทั้ง supply chain ความคล่องตัวในการติดต่อประสานงาน การเจรจาทางการค้าลดลง ส่งผลให้การกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคล่าช้าอย่างมาก ประกอบกับผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน สำหรับตลาดต่างประเทศทั้ง 11 ประเทศ ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยเฉพาะตลาดจีน กลุ่มลูกค้าในประเทศจีนเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ที่เป็นสินค้าจีนมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้คนในประเทศใช้สินค้าแบรนด์จีน และเข้มงวดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบการท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ความนิยมในสินค้าในต่างประเทศลดลง ซึ่งทำให้ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทต้องกลับมาทำการตลาดใหม่อีกครั้ง
ขณะที่ ผลประกอบการครึ่งปีแรก 64 บริษัทมีรายได้รวม 219.15 ล้านบาท ลดลง 45.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 399.25 ล้านบาท และมีขาดทุนทางบัญชีสุทธิ 50.31 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 50.2 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ที่ 101.04 ล้านบาทสำหรับผลขาดทุนที่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครึ่งปีแรกมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 164.59 ล้านบาท ลดลง 49.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 325.15 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย
ภาพรวมของอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 31.9% ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 51.3% เนื่องจากมีการตั้งค่าเผื่อสินค้าเสื่อมสภาพ (Stock Provision) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (onetime expense) จำนวน 14.45 ล้านบาท แต่ถ้าหากไม่นับ Stock Provision อัตรากำไรขั้นต้น จะอยู่ในระดับปกติที่ 52% สาเหตุที่อัตรากำไรขั้นต้นลดลง มาจากการชะลอตัวของยอดขายช่วงภาวะโรคระบาดรุนแรงต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมาทำให้สินค้าระบายออกช้าทุกช่องทางทั้งในประเทศและต่างประเทศและสินค้าบางส่วนหมดอายุ บริษัทต้องตั้งค่าเผื่อสินค้าเสื่อมสภาพเพื่อเน้นนโยบายที่จะรักษาคุณภาพของสินค้าทุกๆด้าน ให้สินค้าทุกชิ้นมีคุณภาพสูงก่อนที่จะถูกส่งออกไปจำหน่ายให้กับลูกค้าทุกช่องทาง
นายแพทย์สุวิน กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลัง คาดว่าระบบการค้าทั้งประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่มีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นเมื่อใด ดังนั้นบริษัทจะต้องปรับตัวทั้งรูปแบบธุรกิจและกำหนดกลยุทธ์ใน 3 ด้านหลักเพื่อรับมือวิกฤตดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ปรับโครงสร้างบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ (Re-structure) 2. พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ (Re-model) 3. ขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายตัวสูง (Re-new) มุ่งเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีโอกาสขยายตัว สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะการเปิดสาขาร้านค้าปลีก เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากฐานลูกค้าในประเทศ และสามารถสร้างตลาดที่ครอบคลุมในระยะยาว ประกอบด้วย
ช่องทางสินค้าอุปโภค (Consumer Product) กลุ่มสินค้า Fast Moving Consumer Goods ( FMCG ) ผ่านผู้ค้าส่งเครื่องสำอางรายใหญ่ในแต่ละภูมิภาค (Local Distributor) โดยมีแผนแต่งตั้ง Distributor รายใหญ่ 8 รายที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วจำนวน 5 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต 49 จังหวัด โดยตั้งเป้าวางจำหน่าย 16,696 ร้านค้าให้แล้วเสร็จในปีนี้ วางเป้าหมายยอดขาย เป็นสัดส่วน 9.2 % ของรายได้รวม ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วน 4.2% จากเดิมที่ 1.1 %
ช่องทางอีคอมเมิร์ซ( E-Commerce) เพิ่มความสามารถการนำเสนอสินค้า โดยสามารถซื้อขายผ่านเว็บไซต์ของบริษัทและระบบแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ( Market Place Platform ) ชั้นนำต่างๆ อาทิ Lazada, Shopee, Konvy รวมทั้งพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างระบบอีคอมเมิร์ซให้มีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้วางเป้าหมายผลักดันยอดขายเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 12.5 % ของรายได้รวม จากเดิมอยู่ที่ 4.5 % โดยปัจจุบันสร้างสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 14.5%
นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มนำกลยุทธ์สร้างพันธมิตร Alliance Strategy มาปรับใช้เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิดจะได้รับผลกระทบ แต่ก็เป็นช่วงที่บริษัทมีการเตรียมการประกาศหาพันธมิตรสร้างความร่วมมือทางธุรกิจแบบเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไป อาทิ แม่ค้าออนไลน์ Influencer blogger you-tuber ห้าง ร้าน บริษัท เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าและช่องทางการจำหน่าย สำหรับสินค้าหมวด Health & Beauty เช่น อาหารเสริม สมุนไพร อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ กลุ่ม Health & Beauty โดยบริษัทมีนโยบายเปิดรับความคิดใหม่ๆ แบบไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการ เพื่อสร้างความร่วมมือทั้งผลิตร่วม จำหน่ายร่วม ตัวแทนจำหน่าย
สำหรับสินค้าใหม่ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2564 บริษัทได้ออกสินค้าใหม่ไปแล้วทั้งสิ้น 14 Items 14 SKUs เพื่อช่วยผลักดันยอดขาย และในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนออกสินค้าใหม่ต่อเนื่องเพิ่มอีก 16 Items 16 SKUs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าขนาดเล็ก (sachet) เพื่อจำหน่ายในช่องทางสินค้าอุปโภค (consumer product)
แนวโน้มตลาดต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ในประเทศจีนคาดว่าคำสั่งซื้อมีแนวโน้มการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เข้าสู่ช่วงเทศกาลโปรโมชั่น 11 เดือน 11 รวมทั้งยังมีการพัฒนาโมเดลการขายในต่างประเทศใหม่ “Product License” เพื่อความสะดวกในการพัฒนาสินค้าใหม่ และการบริหารจัดการในประเทศจีน โดยมีแผนแต่งตั้งตัวแทน License Product อีก 1 ราย สำหรับสินค้าทั้งหมด 10 SKUs คาดว่าจะแต่งตั้งแล้วเสร็จภายใน ไตรมาส 3 อีกทั้งบริษัทมีแผนแต่งตั้ง บริษัท เวิร์คสมาร์ท เพลย์ฮาร์ดเดอร์ จำกัด (WSPD) เพื่อเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้า BEAUTY BUFFET และ BEAUTY COTTAGE ในรูปเเบบ Shop License แต่เพียงผู้เดียวในประเทศกัมพูชา
“ในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย รักษาสภาพคล่องกระแสเงินสดในเกณฑ์ดี เพื่อรองรับสถานการณ์และสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และเตรียมพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ คาดว่าหากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มปรับตัวดีขึ้น โครงสร้างธุรกิจใหม่และแผนงานที่เตรียมไว้จะส่งผลดีกับผลประกอบการของบริษัทในอนาคต” นายแพทย์สุวิน กล่าว