เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดวิสัยทัศน์ “Privately Owned Public Spaces” สร้างพื้นที่สีเขียวในย่านธุรกิจใจกลางเมือง ในเสวนาออนไลน์ “New Green Possibilities”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ร่วมการเสวนาออนไลน์ “New Green Possibilities” ในช่วงภาคธุรกิจ หัวข้อ “Green Business Pathway” อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 หรือ Bangkok Design Week 2021 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างบทสนทนาสาธารณะ ขยายผลการพัฒนาและนโยบายพื้นที่สีเขียว และแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาระหว่างผู้ขับเคลื่อนเมืองระดับนโยบาย เครือข่ายพัฒนาเมือง นักออกแบบ และองค์กรเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ว่างในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ Green Bangkok 2030 ของกรุงเทพมหานคร

สำหรับช่วงการเสวนาภาคธุรกิจ “Green Business Pathway Talk” ครอบคลุมประเด็นการจัดสรรพื้นที่โครงการเอกชนเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวร่วมกับกรุงเทพมหานคร การทำให้พื้นที่สวนกลางย่าน CBD มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต โดยมีตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 องค์กรเอกชนและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจระดับประเทศร่วมสนทนา

วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรในหัวข้อ “Privately Owned Public Spaces” เปิดแนวคิดการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อสาธารณะ สร้างชุมชนเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน “ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เราต้องคำนึงถึงความยั่งยืน การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ควรมีอายุใช้งานยาวนานอย่างน้อย 30 ปี ควรสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเมืองในปัจจุบัน พร้อมกับส่งมอบคุณค่าสำหรับชุมชนในอนาคต ปัญหาสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ คือพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวนั้นมีจำกัด มีเพียง 3.5 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ส่วนปริมาณพื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือพื้นที่ที่ทางราชการได้จัดไว้ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นมีเหลือเพียง 7% เมื่อเทียบกับระดับมาตรฐานที่ควรมีอย่างน้อย 20 – 25% นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมของพื้นที่สาธารณะในเมือง ณ ปัจจุบัน ที่ไม่เอื้อต่อการเดินเท้ามากนัก โดยหากพื้นที่ในชุมชนเมืองเหล่านี้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้เอื้อต่อการเดินเท้าอย่างสะดวก สบาย ปลอดภัย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี จะสามารถดึงดูดให้ผู้คนหันมาสัญจรด้วยการเดินเท้ามากขึ้น ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน”

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชุมชนในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมืองบริเวณถนนพระราม 4 ด้วยแนวคิดการออกแบบและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส ที่เน้นการขยายพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวปรับปรุงทางเดินเท้าให้กว้างขวางและเดินได้อย่างสะดวกสบาย ส่งเสริมการเติบโตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่สีเขียวเพื่อสาธารณะที่มีคุณภาพใจกลางเมืองย่านพระราม 4 บนแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองอย่าง สวนลุมพินี และสวนเบญจกิตติ  

“เดอะ ปาร์ค และวัน แบงค็อก คือสองโครงการมิกซ์ยูสที่สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของเราในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯย่านพระราม 4 ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนเมือง โดย เดอะ ปาร์ค เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่มีออฟฟิศและรีเทลอัจฉริยะภายใต้แนวคิด ‘Life Well Balanced’ ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและเป็นแบบอย่างของการสร้างพื้นที่สีเขียวในโครงการของภาคเอกชนเพื่อสาธารณะ โดยมีการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นแนวตลอดหน้าอาคารที่อยู่บนพื้นที่ของโครงการเพื่อสร้างความร่มรื่นให้ถนนและทางเดิน รวมถึงนำพื้นที่ตลอดแนวด้านหน้าโครงการมาเป็นส่วนต่อขยายทางเดินเท้าที่มีอยู่ให้กว้างขวางภายใต้ภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนโดยรอบที่สัญจรไปมา ส่วน วัน แบงค็อก โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มุ่งเน้นให้ความสำคัญใน 4 ด้าน คือ การคำนึงถึงคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อคุณภาพชีวิต ความสะดวกสบาย และคุณประโยชน์ของผู้ใช้งาน ด้วยพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ทางเดินเท้าที่สะดวกเชื่อมโยงกันตลอดโครงการ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมากถึง 50 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด104 ไร่ของโครงการ การออกแบบที่มุ่งสู่การได้รับรองมาตรฐาน LEED และ WELL การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในระบบบริหารจัดการต่าง ๆ และการเดินทางเข้าออกโครงการที่สะดวกสบายด้วยการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ทางด่วน และถนนสายหลักทั้งถนนวิทยุ และถนนพระราม 4” คุณวรวรรตกล่าวเสริม

นอกจากนั้น โครงการอื่น ๆ ที่พัฒนาหรือดูแล โดยเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) และกลุ่มบริษัทในเครือ อย่างปาร์คเวนเจอร์ อีโคเพล็กซ์ สามย่านมิตรทาวน์ และเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ ต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อสาธารณะใจกลางเมือง ด้วยหลักการมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ของเอกชนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นสาธารณะประโยชน์อย่างการปลูกต้นไม้ตลอดแนวริมถนน จัดสรรพื้นที่โล่งกว้างหน้าอาคารให้ผู้คนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ และเชื่อมขยายพื้นที่ทางเดินเท้าข้างถนนกับพื้นที่ของอาคารให้กว้างขวางและสะดวกต่อการเดินเท้ามากยิ่งขึ้น

“สำหรับนิยามของเมืองอนาคตในอุดมคติ คำ ๆ แรกที่ผมนึกถึงคือ “Glocal” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของท้องถิ่น (Local) และแนวคิด มาตรฐาน นวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก (Global) เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว” คุณวรวรรตกล่าวทิ้งท้าย