‘โคเปนเฮเกน’ ขึ้นแท่น ‘เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก’ แซง ‘โตเกียว’ แชมป์เก่า

ดัชนีเมืองปลอดภัยของ Economist Intelligence Unit (EIU) ในปีนี้ได้จัดอันดับเมือง 60 เมืองจาก 76 ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัย เพื่อให้ได้ภาพที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยในเมืองทั่วโลก

ที่ผ่านมา EIU ได้พิจารณาความปลอดภัยของเมืองทั่วโลกจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ ความปลอดภัยด้านดิจิทัล, สุขภาพ, โครงสร้างพื้นฐาน และความปลอดภัยส่วนบุคคล โดยในปี 2019 ตำแหน่งแชมป์เมืองที่ปลอดภัยที่สุดในได้แก่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้คะแนนสูงสุด 92.0 ตามมาด้วยสิงคโปร์ โอซากา อัมสเตอร์ดัม และซิดนีย์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 EIU ได้เพิ่มปัจจัยความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของประเด็นด้านความยั่งยืน รวมถึงมาตรการการปรับตัวต่อการระบาดของ COVID-19 ทำให้ปี 2021 นี้ โคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก ได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

ปัจจุบัน ความปลอดภัยทางดิจิทัลกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงกว่าหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากงานต่าง ๆ ได้ย้ายมาอยู่บนออนไลน์ ในขณะที่ความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานต้องปรับ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในการเดินทางและการใช้สาธารณูปโภค

ขณะที่ความปลอดภัยส่วนบุคคลได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาชญากรรมในช่วงล็อกดาวน์ และความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากการระบาดใหญ่ถือเป็นการเตือนถึงวิกฤตที่ไม่คาดคิด

“COVID-19 ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในเมืองทุกด้าน และโตรอนโตกับโคเปนเฮเกนดำเนินการได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดในด้านความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ มากกว่าเมืองใหญ่ ๆ ใน 3 อันดับแรกจากปีก่อนหน้า” Pratima Singh ผู้อำนวยการโครงการของดัชนีเมืองปลอดภัยของ EIU กล่าว

ในการศึกษา 5 เสาหลักด้านความปลอดภัยในเมือง ได้แก่ ดิจิทัล สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อม โคเปนเฮเกนอยู่ในอันดับต้นๆ ของแผนภูมิ โดยได้คะแนน 82.4 จาก 100 คะแนน ตามด้วย โตรอนโต ด้วยคะแนน 82.2

Copenhagen City, Denmark, Scandinavia. Beautiful summer day

สำหรับ 10 อันดับเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ได้แก่

  • โคเปนเฮเกน
  • โตรอนโต
  • สิงคโปร์
  • ซิดนีย์
  • โตเกียว
  • อัมสเตอร์ดัม
  • เวลลิงตัน
  • ฮ่องกง
  • เมลเบิร์น
  • สตอกโฮล์ม

ส่วนเมืองที่ปลอดภัยน้อยที่สุด ได้แก่

  • ลากอส
  • ไคโร
  • การากัส
  • การาจี
  • ย่างกุ้ง

“ผลการวิจัยควรทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเติมในมาตรการด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ” Pratima Singh ทิ้งท้าย

Source