หลายคนอาจไม่รู้ว่า 40% ของปริมาณอาหารทั่วโลกจบลงที่ ‘ถังขยะ’ โดยปัญหาขยะอาหารไม่ได้มาจากอาหารเหลือจากครัวเรือนเท่านั้น แต่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กระบวนการผลิตซึ่งรวมแล้วสร้างปริมาณขยะอาหารมากกว่า 1.2 ล้านตันในทุกปี ดังนั้น เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ‘Insectta’ (อินเซกตา) สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ที่ใช้ หนอนแมลงวัน เปลี่ยนให้ขยะอาหารกลายเป็น เงิน
ประเทศสิงคโปร์ แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ในปี 2020 มีการสร้างขยะอาหาร 665,000 ตัน โดยมีเพียง 19% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ซึ่งในสิงคโปร์ก็มีสตาร์ทอัพอย่าง Insectta ที่มองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นเงิน โดยใช้ หนอนแมลงวันทหารดำ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ หนอนแมลงวันแม่โจ้ ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า แมลงวันลาย
อาจฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่ในการใช้หนอนแมลงวันเพื่อย่อยอาหารเน่าเสีย และใช้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น เพราะปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ทำ อาทิ Goterra, Better Origin และ AgriProtein แต่สิ่งที่ทำให้ Insectta นั้นพิเศษก็คือ บริษัทสามารถสกัด วัสดุชีวภาพ จากหนอนแมลงวันและนำไปใช้ในเภสัชภัณฑ์และใช้ในเชิงอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่แค่ใช้กำจัดของเสียและนำหนอนไปทำเป็นปุ๋ยเท่านั้น
“แนวคิดในการก่อตั้ง Insectta คือ ต้องไม่มีอะไรสูญเปล่า ของเสียสามารถทำใหม่เป็นทรัพยากรได้ หากเราเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับวิธีการผลิตของเรา และวิธีที่เราจัดการกับของเสีย” ชัว ไค หนิง (Chua Kai-Ning) ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Insectta
Insectta ได้เริ่มก่อตั้งในปี 2560 เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศษอาหารของสิงคโปร์ ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยในประเทศเพื่อนำหนอนมาสกัดเป็นวัสดุชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีผ่านกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนได้สาร ไคโตซาน, เมลานิน และโปรไบโอติก
ทั้งนี้ สารไคโตซานมีคุณสมบัติทางการแพทย์ใช้ต้านการอักเสบ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยาและเครื่องสำอาง ส่วนสารเมลานินที่สกัดได้จากหนอนแมลงวัน มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าและสามารถใช้แทนแบตเตอรี่ได้ โดยซากของหนอนเมื่อตากให้แห้งจะสามารถเป็นอาหารสัตว์ และเปลี่ยนมูลของแมลงให้เป็นปุ๋ยทางการเกษตรได้อีกต่อ
“ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา เราตระหนักว่าวัสดุชีวภาพล้ำค่าจำนวนมากที่มีมูลค่าตลาดอยู่แล้วสามารถสกัดได้จากแมลงวันเหล่านี้ โดยเราหวังว่าวัสดุชีวภาพของบริษัทจะสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากแมลงที่กำลังเติบโต และเปลี่ยนวิธีที่เรามองขยะ”
Insectta ตั้งเป้าที่จะผลิตไคโตซานให้ได้ 500 กิโลกรัมต่อวัน และขณะนี้กำลังร่วมมือกับ Spa Esprit Group ในสิงคโปร์เพื่อใช้ไคโตซานในมอยส์เจอร์ไรเซอร์ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับแบรนด์หน้ากาก Vi-Mask ซึ่งหวังว่าจะใช้ไคโตซานเพื่อสร้างชั้นต้านจุลชีพภายในผลิตภัณฑ์ จากปัจจุบัน Vi-Mask ใช้ไคโตซานจากเปลือกปูในเยื่อบุของมาสก์หน้า
โดยบริษัทกล่าวว่า การเปลี่ยนไปใช้ไคโตซานจากแมลงเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไคโตซานของ Insectta มีแหล่งที่มาที่ยั่งยืนกว่า ปัจจุบัน หอยปูเป็นหนึ่งในแหล่งหลักของไคโตซาน แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า การผลิตไคโตซานจากแมลงสามารถแทนที่สารเพิ่มความข้นและสารกันบูดสังเคราะห์ในเครื่องสำอางได้
ทั้งนี้ ในแต่ละเดือน บริษัทต้องให้อาหารแก่หนอนแมลงวันทหารดำมากถึง 8 ตัน โดยใช้ทั้งเศษอาหารและขยะจากโรงงานถั่วเหลืองและโรงเบียร์ เช่น กระเจี๊ยบเขียว และเมล็ดพืชใช้แล้ว เมื่อตัวหนอนโตเป็นผู้ใหญ่ พวกมันจะก่อตัวเป็นรังไหม ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 10 ถึง 14 วันต่อมาเป็นแมลงวันที่โตเต็มที่
แม้มีการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับจิตสำนึกของแมลง แต่การเลี้ยงหนอนแมลงวันทหารดำนั้นมีมนุษยธรรมและยั่งยืนกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ เนื่องจากแมลงต้องการน้ำ พลังงาน และพื้นที่น้อยกว่าในการเติบโต อย่างไรก็ตาม แทนที่จะทำฟาร์มของตัวเอง Insectta วางแผนที่จะขายไข่ให้กับฟาร์มแมลงวันทหารดำในท้องถิ่น และรวบรวมโครงผลผลิตที่ผลิตโดยฟาร์มเหล่านี้เพื่อสกัดวัสดุชีวภาพ
“เราไม่เพียงแต่ต้องการให้แมลงเป็นอาหารแก่โลก เราต้องการให้แมลงเป็นพลังงานแก่โลก”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในการกำจัดขยะและนำหนอนแมลงวันทหารดำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในประเทศไทยนั้น กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานว่า ไทยมีขยะกว่า 26.77 ล้านตัน/ปี ขยะอาหารคิดเป็น 64% ของปริมาณทั้งหมด แต่ยังขาดระบบการคัดแยกขยะทำให้ขยะอาหาร เน้นใช้การกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ แม้จะง่าย สะดวก และลดต้นทุนต่อธุรกิจ แต่ก็ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรที่ยังมีค่าโดยเปล่าประโยชน์