นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เตรียมใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เนื่องจากยอดผู้เสียชีวิตยังน่าห่วง
นพ.มนูญ กล่าวว่า “ปัจจุบันสังคมไทยอาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน และส่วนมากผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษามักได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวซึ่งนำเชื้อเข้ามาและสัมผัสกับทุกคนในบ้าน ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ถึงแม้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ยอดรวมผู้เสียชีวิตยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว จากสถิติ 30 วันย้อนหลังจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ลดลงเท่าไหร่นัก ผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงบางรายเมื่อถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอาจมีอาการน้อยถึงปานกลาง แต่พอเข้าสัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 7-8 ของการติดเชื้อ อาการกลับทรุดหนักลงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมักจะเสียชีวิตในที่สุด”
ข้อสังเกตข้างต้นยังสอดคล้องกับสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ที่จำแนกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามมิติต่างๆ ซึ่งรวมถึงด้านอายุ โดยระบุว่าช่วง 30 วันที่ผ่านมาประมาณ 10% ของยอดผู้ติดเชื้อรายวันเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ประมาณ 60% ของยอดผู้เสียชีวิตรายวันยังเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอีกด้วย[1]
นพ. มนูญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลจากผลการทดลองทางคลินิกและข้อมูลการใช้จริงในสหรัฐอเมริกา พบว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถช่วยลดระยะเวลาการเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 4 วัน ลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดลงได้ และลดความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้ 70% จึงถือเป็นอาวุธสำคัญที่แพทย์จะพิจารณาใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว”
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing Monoclonal Antibodies: NmAbs) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของประเทศไทยได้อนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ มีผลการศึกษายืนยันในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง หรือไม่ต้องให้ออกซิเจนเสริม และผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่อาการรุนแรงในกลุ่มต่างๆ ต่อไปนี้
- ผู้สูงอายุ
- โรคอ้วน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2
- โรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรับการฟอกไต
- โรคตับเรื้อรัง
- มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกด
คาดว่ายาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ จะเริ่มใช้ในโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ และโรงพยาบาลรัฐบาลบางแห่ง ภายในกลางเดือนกันยายนนี้ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ชำระค่ารักษาเอง เนื่องจากยาดังกล่าวยังไม่ได้เป็นยาที่อยู่ในสิทธิการรักษาในระบบสุขภาพ
“สำหรับประเทศไทย กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยงยังได้รับวัคซีนไม่ถึง 50% อีกทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงบางรายยังไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีน ดังนั้นการรักษาด้วยยาแอนติบอดี ค็อกเทล จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มนี้ได้ หากรีบเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุดภายใน 7 วันแรกหลังจากรับเชื้อ และจะยิ่งดีกว่าถ้าได้รับการรักษาใน 3-4 วันแรก” นพ.มนูญ กล่าวทิ้งท้าย
[1] https://ddc.moph.go.th/covid19