ผู้วิจัย: ธนพล เตียวัฒนานนท์
ที่ปรึกษา: ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์
“หมากล้อม” หรือ “โกะ” เป็นหมากกระดานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นศิลปะโบราณของจีนสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เล่นกันมานานกว่าสามพันปี ซึ่งฝึกให้ผู้เล่นได้ใช้ทักษะทางปัญญาทั้งด้านกลยุทธ์ การคำนวณ และยังเป็นการฝึกสมาธิให้ผู้เล่นด้วย
ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้เรียนหมากล้อมกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้ปกครองจำนวนมากมองหากิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะทางปัญญาและสมาธิให้แก่ลูกหลาน เพื่อหวังว่าเด็ก ๆ จะมีพัฒนาการทางการเรียนที่ดีหรือทักษะที่ช่วยส่งเสริมต่อการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ
“เรียนหมากล้อม 10 นาทีก็เล่นเป็น แต่ถ้าอยากเล่นให้เก่งอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต” คำกล่าวนี้คนที่เข้าใจหมากล้อมถึงจะเข้าใจ กติกาการเล่นหมากล้อมนั้นเรียบง่าย แต่การเล่นให้เก่งนั้นยาก หมากล้อมไม่ใช่เป็นเพียงเกมการเล่น แต่เป็นกีฬาที่มีการแข่งขันในระดับสากล มีการวัดระดับฝีมือแบบมาตรฐาน โดยผู้เล่นมือใหม่เรียกว่าระดับ “คิว” (Kyu) เริ่มจาก 30 คิว เก่งขึ้นตัวเลขก็จะน้อยลงจนถึงระดับ 1 คิว และถ้าเล่นได้เก่งขึ้นอีกก็จะได้ระดับที่เรียกว่า “ดั้ง” (Dan) เริ่มจากระดับ 1 ดั้ง เก่งขึ้นตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 7 ดั้งคือระดับสูงสุด และถ้าหากสอบเป็นนักหมากล้อมมืออาชีพได้ (ในต่างประเทศ) ก็จะมีระบบดั้งมืออาชีพแยกต่างหาก เริ่มตั้งแต่ 1 ดั้งมืออาชีพจนถึง 9 ดั้งมืออาชีพ จะเห็นได้ว่าผู้เล่นหมากล้อมแต่ละคนมีระดับฝีมือที่แตกต่างกันมาก ทักษะที่ได้จากการเล่นหมากล้อมและประโยชน์ที่เกิดจากการเล่นหมากล้อมจริง ๆ นั้นอาจได้แตกต่างกันในแต่ละคนขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นด้วย ซึ่งบางคนเรียนหมากล้อมเพื่อเป็นงานอดิเรก บางคนเรียนเพื่อเรียนรู้แนวคิดจากหมากล้อม บางคนเรียนเพื่อเป็นนักกีฬาหมากล้อม
จากผลการวิจัยในสารนิพนธ์ระดับปริญญาโท ของสาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ทำการวิจัยโดยนายธนพล เตียวัฒนานนท์ และที่ปรึกษาคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ เรื่อง “ความสัมพันธ์ของการเรียนหมากล้อมกับผลการเรียนวิชาหลัก” พบว่า การเรียนหมากล้อมจนถึงระดับตั้งแต่ 8 คิวขึ้นไป ทำให้มีผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และอาจทำให้ผลการเรียนวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษดีขึ้น แต่ไม่พบว่าทำให้ผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ดีขึ้น และยังพบว่าผู้เรียนหมากล้อมที่มีระดับฝีมือสูงกว่ามีเกรดเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ดีกว่าผู้เรียนหมากล้อมที่มีระดับฝีมือต่ำกว่าอย่างชัดเจน ส่วนผลการเรียนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับระดับฝีมือหมากล้อมของนักเรียน
การวิจัยดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลผลการเรียนย้อนหลังของนักเรียนชั้น ม. 3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีการเรียนการสอนหมากล้อมเป็นวิชาในหลักสูตรของโรงเรียน จำนวนทั้งหมด 144 คน ซึ่งผ่านการเรียนหมากล้อมมาในช่วงชั้น ม.1 – ม.3 ดูผลการเรียนวิชาหลักในช่วงสามปี เปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มตามระดับฝีมือหมากล้อมของนักเรียนและกลุ่มที่มีการเรียนพิเศษหมากล้อมเพิ่มเติมแล้วนำมาใช้วิธีการทางสถิติ โดยนักเรียนที่มีระดับฝีมือสูงสุดในกลุ่มตัวอย่างนี้มีระดับ 3 ดั้ง
การเรียนหมากล้อมต้องอาศัยทักษะทางคณิตศาสตร์เด่นชัดที่สุด ซึ่งผู้เรียนหมากล้อมจนถึงระดับฝีมือตั้งแต่ 8 คิวขึ้นไปซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นเริ่มเข้าใจในแนวคิดของหมากล้อมและเป็นระดับมาตรฐานที่เริ่มมีการทดสอบโดยสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยน่าจะสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ การคิดคำนวณ การใช้ตรรกะ และการคิดอย่างเป็นระบบจากการเรียนหมากล้อมได้ค่อนข้างมาก ส่งผลทำให้มีผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้นได้ ส่วนผลการเรียนวิชาอื่นนั้น อาจต้องอาศัยความจำ ความรอบรู้ในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งอาจเป็นทักษะทางด้านอื่นที่ไม่ได้มาจากการเรียนหรือฝึกฝนหมากล้อมโดยตรง ซึ่งการเรียนหมากล้อมฝึกให้ผู้เรียนใช้ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักใช้จินตนาการมากกว่าการใช้แต่เพียงความจำ แต่การเรียนหมากล้อมก็มีการฝึกทักษะทางด้านความจำเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทักษะทางด้านความจำนี้อาจไม่ได้มีมากในผู้เล่นระดับไม่สูงมาก ซึ่งอาจพบทักษะด้านความจำที่ได้จากการเรียนหมากล้อมในผู้ที่มีระดับฝีมือสูงขึ้นไป