‘WeTV’ ขอใช้ ‘ซีรีส์จีน’ ตรึงสาวกสตรีมมิ่ง ท่ามกลางสมรภูมิไร้ลอยัลตี้

ในตลาดสตรีมมิ่งที่ทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาค่ายภาพยนตร์ก็หันมาทำสตรีมมิ่งของตัวเองอย่าง ‘Disney’ ที่เพิ่งปล่อย ‘Disney + Hotstar’ ในไทยไปหมาด ๆ จนปัจจุบันตลาดไทยมีผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งกว่า 20 ราย ที่พร้อมจะแย่งชิงเงินและเวลาจากผู้ใช้ให้อยู่กับแพลตฟอร์มตัวเองได้นานที่สุด

‘WeTV’ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งจาก ‘Tencent’ ยักษ์ใหญ่จากจีนที่รุกตลาดไทยมากว่า 2 ปี ซึ่งถือเป็นผู้เล่นระดับแถวหน้า เพราะด้วยเงินทุนที่มหาศาลทำให้สามารถผลิต ‘ออริจินอล’ คอนเทนต์ออกมาป้อนบนแพลตฟอร์มได้อย่างต่อเนื่อง กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางของแพลตฟอร์มจากนี้ รวมถึงฉายภาพการแข่งขันในตลาดสตรีมมิ่งไทย

ลอยัลตี้ไม่มีในตลาด

กนกพร ระบุว่า ปัจจุบันตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยมีการแข่งขันคึกคักมาก เพราะมีผู้เล่นกว่า 20 ราย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นทำให้ ‘ไม่มีลอยัลตี้’ ซึ่งเฉลี่ยแล้วผู้บริโภค 1 คนจะใช้งานประมาณ 4.5 แพลตฟอร์ม และใช้เวลารวมในการรับชมเฉลี่ย 3.30 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ใช้เข้าและออกตลอดเวลา เจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องพยายาม แสดงจุดยืนในการนำเสนอคอนเทนต์ และหา คอนเทนต์ที่เป็นเทรนดิ้งทำให้เกิดการพูดถึง

“การแข่งขันตอนนี้คือ คอนเทนต์ ผู้เล่นทุกรายพยายามหาคอนเทนต์ดีมีคุณภาพเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่สิ่งสำคัญต้องมีความแตกต่าง โดยเฉพาะคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟหรือออริจินอล”

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ปักหลักซีรีส์จีน ควบคู่คอนเทนต์เอเชียน

จุดเด่นของ WeTV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจากจีน ดังนั้น คอนเทนต์จำนวน 800 เรื่อง รวมกว่า 1 ล้านนาที กว่า 50% เป็นคอนเทนต์จากจีน ซึ่งถือเป็นการจุดกระแสของ C-POP หรือเหล่า ดาราจีน ให้เป็นที่นิยมในไทยโดยเฉพาะในหมู่สาว ๆ ที่นิยมซีรีส์วาย ประกอบกับการที่คนไทยคุ้นเคยกับคอนเทนต์จีนตั้งแต่อดีต จึงทำให้ WeTV เข้าถึงผู้บริโภคไทยได้ไม่ยาก

ส่วนอีก 50% ของคอนเทนต์จะเน้นไปที่คอนเทนต์เอเชีย อาทิ เกาหลี, ญี่ปุ่น และอนิเมชั่น รวมถึงการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศนั้น ๆ ทำออริจินอลของตัวเอง เพราะรองรับผู้บริโภคที่มีความ fragmentation หรือชอบหลากหลาย โดยในไทย WeTV มีพันธมิตรทางคอนเทนต์มากกว่า 40 ราย

ทั้งนี้ 70% ของผู้ชม WeTV เป็นผู้หญิง และผู้ชมกลุ่มหลักมีอายุเฉลี่ย 18-24 ปี มีสัดส่วน 29% และ 25-34 ปี มีสัดส่วน 26% โดยคอนเทนต์จีนยังเติบโตสูงสุดที่ 137% คอนเทนต์ไทย 40% และคอนเทนต์อนิเมะ 93%

“ความท้ายของเราคือภาพจำที่มีแต่ซีรีส์จีน ซึ่งเราก็พยายามจะเพิ่มความหลากหลาย เพราะอย่างน้อยเปิด WeTV มาจะเจอคอนเทนต์ใดคอนเทนต์หนึ่งที่ตรงกับความชอบบ้าง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้ไม่หันไปหาแพลตฟอร์มอื่น อย่างอนิเมชั่นก็ช่วยเพิ่มกลุ่มผู้ใช้ชายให้เพิ่มขึ้น”

สร้างคอมมูนิตี้มัดใจผู้ชม

แน่นอนว่าสาวกซีรีส์ย่อมมีคอมมูนิตี้ที่เอาไว้พูดคุยแลกเปลี่ยน ดังนั้น WeTV จึงพัฒนาฟีเจอร์ Flying comment ที่ให้ผู้ชมสามารถแสดงความคิดเห็นระหว่างชมคอนเทนต์เพื่อสร้าง Engagement การมีส่วนรวมระหว่าง WeTV กับผู้ชม โดยฟีเจอร์ดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงด้วยยอดโตกว่า 3 เท่า และ มีจำนวนคอมเมนต์ถึงกว่า 1.5 ล้านคอนเมนต์ต่อเดือน

นอกจากนี้มี ฟีเจอร์ Ins-screen ที่ผู้ใช้สามารถย่อจอเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ในแอปพลิเคชัน มี ฟีเจอร์ Vote สำหรับโหวตในรายการไลฟ์สด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแฟนมีตติ้งกับ WeTV Global Brand Ambassador อีกด้วย

ใช้บริษัทในเครือสร้างการรับรู้

ในส่วนของการสร้างการรับรู้ WeTV จะใช้และพันธมิตรในเครือเทนเซ็นต์ ประเทศไทย อย่าง Sanook, JOOX, PUBG MOBILE และ WeComics เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับรู้กับผู้ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของ WeTV ได้มากขึ้น

รวมถึงพันธมิตรนอกเครือ อย่างการนำคอนเทนต์ไปฉายบน ช่อง 8 เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงผู้ชมโทรทัศน์ นอกจากนี้จะเพิ่มช่องทางชำระเงิน รวมถึงไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มอย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจเดลิเวอรี่ หรือการแลกคะแนน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าบริการ และเพิ่มช่องทางในการรับชมออนไลน์

ปักเป้า 3 ปีขึ้นเบอร์ 2 ตลาดอาเซียน

ตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในปี 2019 WeTV ตั้งเป้าขึ้น Top3 ในตลาดไทย โดยตั้งแต่ช่วงมกราคม-สิงหาคม 2021 WeTV มียอดผู้ใช้งาน DAU เพิ่มขึ้นถึง 63% จากปี 2020 และยังเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่มีผู้ใช้งานแบบรับชมโฆษณา (Advertising Video On Demand – AVOD) และเป็นอันดับ 2 ในส่วนของผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิก (Subscription Video On Demand – SVOD) โดยใน 6 เดือนแรก WeTV มียอดผู้ใช้งานรายเดือน (MAU) เฉลี่ยที่ 13 ล้านคน และ 25% เป็นผู้ใช้ VIP

ขณะที่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ WeTV มีผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users หรือ MAU) กว่า 45 ล้านราย จากภาพรวมตลาด Over-the-top (OTT) ที่มีผู้ใช้รวมทั้งหมด 180 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนการเข้าถึง 31% ของประชากรในภูมิภาค โดย WeTV มียอดชมวิดีโอมากกว่า 25 ล้านวิวต่อวัน นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิกของ WeTV ยังเติบโตขึ้นมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป้าหมายของ WeTV ใน 3 ปีจากนี้คือ ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาด OTT เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเติบโตให้ได้ 3 เท่าในตลาดไทย