ฟังเสียง “เยาวรุ่น” กับวัฒนธรรมออนไลน์ใหม่ที่พวกเขาต้องการผ่านโปรเจกต์ของเด็กค่าย YSLC ซีซั่น 3

ดีแทค Safe Internet เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงพลังลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง ภายใต้โครงการ Young Safe Internet Young Leader Cyber Camp ที่เยาวชนได้เปิดโลกองค์ความรู้ด้านดิจิทัล และสัมผัสกระบวนการบ่มเพาะความคิด เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยเป็นพลเมืองอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ (Responsible netizen) ดีแทค Safe Internet ชวนฟังเสียงของเยาวชน Gen Z ผ่าน 10 โปรเจกต์ ที่พวกเขาได้ลงมือสร้างสรรค์กว่า 3 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการบ่มเพาะไอเดีย (Incubation process) สู่ปฏิบัติการสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์

“ช่องว่างระหว่างวัย” (Generation gap) เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นมาช้านาน แต่เมือเทคโนโลยีดิจิทัลมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย สื่อสังคมออนไลน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม สร้าง “พื้นที่ใหม่” ในการนำเสนอตนเอง ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายครั้งพื้นที่ออนไลน์กลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง การหลอกลวง ซึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างคนออนไลน์ 2 ประเภท ได้แก่ Digital Migrant ผู้ที่เกิดในยุคอนาล็อก แต่เพิ่งโยกย้ายเข้ามาในยุคดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ และเจนวาย ขณะที่อีกประเภทคือ Digital Native หรือผู้ที่เกิดมากับอินเทอร์เน็ต สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่ว

อย่างไรก็ตาม สังคมออนไลน์จะน่าอยู่ขึ้นเมื่อมีการใช้งานอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ดีแทคจึงได้ชวนน้องๆ มา #เปลี่ยนโลกช่วงปิดเทอม เพื่อมาร่วมสร้างและออกแบบ “วัฒนธรรมออนไลน์สร้างสรรค์” (Constructive Online Culture) ในแบบที่ Digital Native อยากเห็นและต้องการให้เป็น ผ่านโครงการที่น้องๆ นำเสนอ ซึ่งดีแทค เลือกมา 10 กลุ่มที่น่าสนใจ จากทั้งหมด 120 โครงการที่สมัครเข้าร่วม แบ่งเป็นโครงการที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์  27.5% (33 โครงการ) ข่าวปลอมและเสรีภาพแสดงความคิดเห็น 23.3% (28 โครงการ) และความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ 18.3% (22 โครงการ) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเด็นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ได้รับความสนใจมากที่สุดในกลุ่ม Gen Z

  1. กลุ่ม Jordan

เว็บแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นเพื่อคัดกรองข่าวปลอมในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning มาเทรนข้อมูลจำนวนกว่า 1,360 ชุดข้อมูล โดยอาศัยฐานข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และช่วยตัดสินใจในเชื่อถือข่าวสาร “สำหรับพวกผม ข่าวปลอมมันสามารถสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งได้ ที่ทำให้คนเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อ ผมเชื่อว่าเว็บแอปพลิเคชั่นคัดกรองข่าวปลอมของผม จะช่วยให้ทุกคนในการตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ และมีความระมัดระวังในการอ่าน หรือการแชร์มากขึ้น”

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://yslc2021-c08-jordan.azurewebsites.net/

2. กลุ่ม Dataland

น้องๆ ได้พัฒนาตัวการ์ตูนในรูปแบบ Avatar เพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในรูปแบบออนไลน์คอนเทนท์ โดยเฉพาะประเด็นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนและสร้างการตระหนักรู้ต่อประเด็นดังกล่าวในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/SaveNewsThailand/

3. กลุ่มอกไก่ต้องมีคนใหม่ อกหักต้องมีคนหมัก

เกม RPG หรือแนวเกมที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครตัวหนึ่ง สามารถควบคุมการกระทำทุกอย่างได้ ซึ่งเกมนี้ชื่อว่า HICHILD เป็นลักษณะสืบสวนสอบสวน ผจญภัย ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกภัยร้ายจู่โจมบนโลกออนไลน์

“ไซเบอร์บูลลี่ในปัจจุบันเหมือนเป็นเรื่องสนุกและปกติไปแล้ว เพราะส่วนใหญ่คิดว่าคือการหยอกล้อกัน ไม่นึกใจเขาแต่นึกถึงใจเราเป็นใหญ่ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนผู้ถูกไซเบอร์บูลลี่ก็สภาพจิตใจย่ำแย่ ซึ่งมันทำให้วัฒนบนโลกออนไลน์นั้นไม่สร้างสรรค์เลย”

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://okkai.online/ , https://www.facebook.com/OKKAI.YSLC

4. กลุ่ม Work from Mars

เกมแนว Visual Novel ที่ผู้เล่นสามารถเลือกตอบโต้กับตัวละครและพาทุกคนไปสำรวจโลกไซเบอร์ได้ ในฐานะเด็กฝึกงานของบริษัท D-Tech บริษัทรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ผู้เล่นจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเผชิญได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับตัวละครในเกมและเงื่อนงำต่างๆ ภายในบริษัท

“สมัยนี้คนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก และในชีวิตประจำวันที่เราใช้อินเทอร์เน็ตกันด้วยความเคยชินเป็นปกติ  การคุกคามจากภัยไซเบอร์ก็เกิดขึ้นกับเราได้ง่ายด้วยเช่นกัน เราทุกคนมีโอกาสถูกแฮกข้อมูลส่วนตัวได้ตลอดเวลาจากที่ไหนสักแห่งที่เราเคยให้ข้อมูลไว้”

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://workfrommars.itch.io/cyber-intern

5. กลุ่ม Cyber Assemble

บอร์ดเกมที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมออนไลน์สร้างสรรค์ ไม่บูลลี่ผู้อื่นด้วยความเคยชินและรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น โดยเป็นบอร์ดเกมที่สามารถเล่นได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/cyberassemble

6. กลุ่ม Merfolk

ชุดเครื่องมือทางการศึกษาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยพัฒนาในรูปแบบ Print and Play เพื่อให้ง่ายต่อการทำไปใช้งานต่อ ซึ่งมาในหลากหลายรูปแบบ เช่น Reflection Board, Story Card และ Emotion Card

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.instagram.com/merfolkxstandpoint/?hl=th

7. กลุ่ม Silicon

มินิเกม 2 รูปแบบที่เน้นความสนุก เล่นง่าย และเข้าใจได้ง่าย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Phishing ซึ่งประกอบด้วยเกมจับผิดภาพ และเกมวิ่งเลือกคำ

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://pradrattana.github.io/game/ , https://pradrattana.github.io/game2/

8. กลุ่ม Fresh Power

รายการวาไรตี้ออนไลน์ที่นำเสนอความคิดที่แตกต่างและให้ความรู้เรื่องการใช้สื่อสังคมอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบคิด Freedom of Speech โดยสมาชิกจะร่วมแชร์แง่มุมความคิดในรูปแบบคอนเทนต์ออนไลน์ภายใต้คอนเซ็ปต์ “คิดต่างนั้นไม่ผิด เพราะพวกเรามีสิทธิ์จะคิดต่าง”

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/Freshy-power-104149885243483

9. กลุ่ม Athena

วิดีโอเกมในรูปแบบอินเทอร์แอ็คทีฟที่ให้ผู้เล่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ทั้งแง่มุมด้านกฎหมาย เหตุการณ์ที่พบเจอได้บ่อย และการแก้ไขปัญหาเมื่อเจอตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://supakjack.github.io/athena

10. กลุ่ม Fantastic Four

บอร์ดเกมในรูปแบบออนไลน์ที่สามารถเล่นร่วมกันได้ตั้งแต่ 1-4 คน เกม Bully Fighter มุ่งลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ โดยผู้เล่นจะต้องแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาไซเบอร์บูลลี่

ปลดล็อกศักยภาพเยาวชน

Cecilie Blydt Heuch รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทรัพยากรบุคคลและความยั่งยืน เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า การสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยและทั่วถึงเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของเทเลนอร์กรุ๊ป การส่งเสริมให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพื้นที่ออนไลน์มีความสำคัญอย่างยิ่ง และในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของโลก เราตระหนักดีถึงความสำคัญในการเสริมแกร่งศักยภาพเยาวชนผ่านการสนับสนุนด้านความรู้ ทักษะ และเครื่องมือ ซึ่งเราได้มีการจัดโปรแกรมลักษณะเดียวกันนี้ในทุกประเทศที่เทเลนอร์ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย บังคลาเทศ และนอร์เวย์

รับชมวิดีโอฟังเสียง “เยาวรุ่น” กับวัฒนธรรมออนไลน์ใหม่ที่พวกเขาต้องการ: https://fb.watch/87_pWfgt8G/