หากพูดยุคสมาร์ทโฟน ชื่อแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่คนส่วนใหญ่คุ้นคงหนีไม่พ้น iPhone, Samsung, Xiaomi, Huawei, Oppo ฯลฯ แต่หากย้อนกลับไปช่วง 15-20 ปีที่แล้ว แบรนด์มือถือที่ใคร ๆ ต้องรู้จักคงหนีไม่พ้น ‘Nokia’ (โนเกีย) มือถือที่มีจุดเด่นด้านความ ‘อึด ถึก ทน’ ซึ่งในปัจจุบันนี้โนเกียยังคงอยู่ในตลาดสมาร์ทโฟนภายใต้บริษัท HMD Global
ย้อนตำนานโนเกีย
หากพูดถึงแบรนด์โนเกียคน Gen X, GenY น่าจะรู้จักและเคยได้สัมผัสกันอย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็น Gen Z ที่เกิดระหว่างปี 2540 – 2555 และมีอายุระหว่าง 9 – 24 ปี อาจจะพอเคยได้สัมผัสมาบ้าง แต่น่าจะคุ้นเคยกับสมาร์ทโฟนมากกว่า ซึ่งในช่วง 15-20 ปีที่แล้ว โนเกียแบรนด์มือถือสัญชาติฟินแลนด์ถือเป็นแบรนด์มือถืออันดับ 1 ของโลก โดยเฉพาะปี 2000-2007 ที่ถือเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้ ก่อนที่จะมีการมาของสมาร์ทโฟน
ด้วยจุดเด่นด้านความทนทาน โดยเฉพาะรุ่น 3310 ที่เรียกได้ว่าตำนาน ตลอดจนมือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่มีฟีเจอร์เด่น ๆ ตามออกมา ไม่ว่าจะเป็น Nokia N-Gage หรือ Nokia 7610 หรือ รุ่นใบไม้ เพราะด้วยดีไซน์ที่เหมือนใบไม้นั่นเอง แต่หลังจากการมาของโทรศัพท์หน้าจอสัมผัส หรือสมาร์ทโฟน ชื่อเสียงของโนเกียก็ค่อย ๆ หายไปกับกาลเวลา
โลกของสมาร์ทโฟนจะมี 2 ระบบปฏิบัติการที่คนคุ้นเคยก็คือ iOS ของ Apple และ Android แต่หลายคนอาจจะลืม (หรือไม่รู้ด้วยซ้ำ) ว่ามีระบบ ‘Windows Phone’ ด้วย โดยในปี 2014 Microsoft ทุ่ม 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกลุ่มธุรกิจ Mobile Device ของโนเกีย ก่อเกิดเป็น Windows Phone แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
จนมาปี 2016 บริษัท HMD Global ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติฟินแลนด์ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้บริหาร และพนักงานเก่าโนเกีย ได้ซื้อธุรกิจ Mobile Device คืนจาก Microsoft เพื่อคืนชีพโนเกียกลับมาสู่ตลาดมือถืออีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใช้ระบบปฏิบัติการ Android แทน โดยได้เปิดตัว Nokia 6 ในช่วงต้นปี 2017 เป็นรุ่นแรก และภายในงาน ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป 2017 ครั้งที่ 27 แบรนด์โนเกียภายใต้บริษัท HMD Global ก็มาเปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรก
นับตั้งแต่ปี 2017 ที่ได้เริ่มกลับมาทำตลาดอีกครั้ง โนเกียก็ส่งสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟน ลุยตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Nokia 3310 เวอร์ชั่นปี 2017 หรือในฝั่งของสมาร์ทโฟนก็พยายามทำตลาดครอบคลุมทุกระดับ อาทิ Nokia 3, Nokia 5, Nokia 7 Plus ที่เน้นตลาดเริ่มต้นจนถึงระดับกลาง ส่วนกลุ่มเรือธงก็มี Nokia 8
อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 โนเกียไม่ได้สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้ตลาดได้เท่าที่ควรเพราะเรือธงอย่าง Nokia 9 PureView นั้นมีสเปกในระดับเรือธงปี 2018 นอกเหนือจากจะเปิดตัวล่าช้าแล้ว กำหนดการวางจำหน่ายก็ค่อนข้างช้าเช่นเดียวกัน เพราะในไทยกว่าจะวางขายก็ล่วงเลยมาถึงช่วงกลางปี 2019 และมาปี 2020 ที่เกิดวิกฤต COVID-19 ทางโนเกียก็กลับไม่มีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงในตลาด
เปิดตัว Nokia G50 สมาร์ทโฟน 5G รุ่นแรก
มาปี 2021 ในช่วงครึ่งปีแรก ทางโนเกียได้เปิดตัวทั้งหมด 8 รุ่น แบ่งเป็นสมาร์ทโฟน 6 รุ่น และฟีเจอร์โฟน 2 รุ่น โดยมีอัตราการเติบโต 40% โดยมีปัจจัยบวกจากช่วงมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว ทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน และเพื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น เป๋าตัง หมอพร้อม และแอปฯ ธนาคาร
ล่าสุด โนเกียก็เปิดตัว Nokia G50 สมาร์ทโฟน 5G รุ่นแรกจากโนเกียที่รองรับทุกความถี่ 5G ในประเทศไทย โดยวางราคาในไทยเป็นทางการที่ 8,590 บาท (เครื่องเปล่า) แม้จะถือว่าเป็นสมาร์ทโฟน 5G ในกลุ่มกลางราคาไม่ถึงหมื่นบาท แต่โนเกียก็ได้ ทรูมูฟเอช เป็นพันธมิตรในการบันเดิลแพ็กเกจ (สัญญา 1 ปี) ทำให้ราคาเครื่องเริ่มต้นเพียง 1,590 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ จุดเด่นของสมาร์ทโฟนของโนเกียคือ ความทนทาน อีกทั้งยังการันตีการอัปเดตความปลอดภัยรายเดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี พร้อมกับ Android เวอร์ชั่นล่าสุด ที่รองรับการอัพเกรด Android 12 และเวอร์ชั่นใหม่ในอนาคต ทำให้สมาร์ทโฟนของโนเกียจะปลอดภัยและยังใหม่ตลอดด้วยการอัพเกรดแอนดรอยด์เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด
ตั้งเป้าโต 50% ในสิ้นปี
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือ ทำไมต้องเป็น Nokia G50 เพราะนอกจากรุ่นดังกล่าว โนเกียยังมี Nokia 8.3 5G แต่ไม่ได้นำมาทำตลาด ซึ่งทางผู้บริหารอย่าง นายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ก็ให้คำตอบว่า “ต้องการนำรุ่นที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ในสเปกที่ดีแต่มีราคาที่จับต้องได้ และมาในเวลาที่เหมาะสม”
นอกจากจะเป็นพันธมิตรกับทรูมูฟเอชแล้ว ทางโนเกียยังมีบริษัท วายเอ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ YAS ผู้จัดจำหน่ายและจัดส่งสินค้าโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน อุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นพาร์ตเนอร์ในการจัดจำหน่าย ทำให้ครอบคลุมร้านรายย่อยกว่า 3,000 ราย ดังนั้น จากทิศทางดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าโนเกียจะเน้นในตลาดกลุ่มเริ่มต้นและกลุ่มกลางเป็นหลัก
ด้วยการเติบโตของ 5G ที่โนเกียคาดว่าจะขยายตัวขึ้น 42% รวมถึงหลังจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในไตรมาส 4 ชัดจะช่วยให้โนเกียสามารถเติบโตได้ 50% ภายในปีนี้
“สัดส่วนสมาร์ทโฟน 5G ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนแน่นอน แต่มีการเติบโตอย่างมาก เราหวังว่า 5G จะเป็นการนำสิ่งที่ดีทั้งการนำโนเกียเข้าสู่ตลาด และปูทางเข้าหาพาร์ตเนอร์ได้มากขึ้น”
ด้วยความที่ HMD Global มีใบอนุญาตในการผลิตสมาร์ทโฟน รวมถึงแท็บเล็ตภายใต้ชื่อแบรนด์โนเกียเป็นระยะเวลา 10 ปีเต็ม ดังนั้น ยังพอมีเวลาให้โนเกียได้ทำตลาดอยู่ แต่คงต้องยอมรับว่าเส้นทางนี้ไม่ง่ายแน่นอน เพราะ 5 อันดับของสมาร์ทโฟนทั่วโลกล้วนแล้วแต่แข็งแรงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ Samsung, Xiaomi, Apple, Oppo และ Vivo ส่วนอันดับอื่น ๆ ก็ยังมีแบรนด์จีนในสนามอีกเพียบ ก็ต้องรอดูว่าการพยายามกลับมาในตลาดของโนเกียจากนี้ไปจนถึงปี 2026 จะเป็นอย่างไรต่อไป