เปิดวิสัยทัศน์ ‘ณัฐพล วิมลเฉลา’ ซีอีโอใหม่สยามราชธานี ย้ำเป็นบริษัทที่พร้อมเติบโตสเกลอัพได้ เน้นบริหารแบบกระจายศูนย์ คล่องตัว ชูหัวใจสำคัญยุควิกฤตโควิด-19 เน้นบริหารต้นทุน

หัวเรือใหญ่สยามราชธานีคนใหม่ ประกาศพร้อมนำทัพบริษัทเติบโตสเกลอัพทุกเวลา เน้นบริหารแบบคล่องตัว กระจายการตัดสินใจให้ผู้บริหารไม่ต้องขึ้นกับซีอีโอเพียงคนเดียว ใช้ Agile ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก ชูกลยุทธ์คุมต้นทุน พร้อมรักษาพนักงานดั่งเพชรเม็ดงามเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 เปิดกว้างหาพันธมิตร อ้าแขนรับสตาร์ทอัพหรือธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกัน ชี้งานไหนไม่ถนัดต้องดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาเสริมเพราะยุคนี้ถึงเวลาต้องช่วยกันโต และใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้ามากที่สุด

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) มีมติอนุมัติแต่งตั้งนายจิรณุ กุลชนะรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร แทน นายไกร วิมลเฉลา และนายณัฐพล วิมลเฉลา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน นายจิรณุ กุลชนะรัตน์ ซึ่งทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป

นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ได้เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์และนโยบายการบริหารหลังจากนี้ว่า ที่ผ่านมาการทำงานแต่ละยุคสมัยย่อมมีความท้าทายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ทุกอย่างไว รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ รวมถึงการสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกและมีผลกระทบกับทุกส่วน ทำให้มองว่าสยามราชธานียังต้องปรับกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่องหลังจากเริ่มทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นมา 2-3 ปี แล้ว  โดยจะเน้นการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ที่ให้อำนาจผู้บริหารแต่ละส่วนสามารถบริหารจัดการงานเองได้ ไม่ต้องผ่านซีอีโอหมดทุกเรื่อง รวมถึงใช้กระบวนการทำงานแบบ Agile ที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะเตรียมตัวให้บริษัทพร้อมเติบโตแบบสเกลอัพได้ทุกเวลา

อย่างไรก็ดี มองว่า ปัจจุบันจุดแข็งของสยามราชธานี คือ การที่สามารถรวม ซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบุคลากรไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลูกค้าได้หลายโซลูชั่น อีกทั้งปัจจุบันบริษัทยังมีลูกค้าที่มั่นคง ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็น Multi Company ที่มีมาตรฐานสูงรวมกว่า 600 สัญญา ส่งผลให้ SO สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากลูกค้ามาพัฒนาไปพร้อมๆ ไปกับคู่ค้าได้เลย ซึ่งหากดูจากตัวเลขตลาดแรงงานไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม จากสถิติเมื่อปี 2562 พบว่ามีจำนวนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านคน หากคิดเป็นส่วนแบ่ง 10% ของตลาดแรงงานทั้งหมด จะเท่ากับว่าSO จะมีตลาดแรงงานเอาท์ซอร์สอยู่ที่ 1.6 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังคงเป็นตลาดที่ยังโตและไปได้ในอนาคต 

“ตอนนี้ส่วนงานที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมและรถเช่าเติบโตเฉลี่ยปีละกว่าร้อยละ 10 และสิ่งนี้ได้กลายเป็นเหมือนสนามทดสอบไปพร้อมกับลูกค้า (Sandbox) ที่ทำให้บริษัทได้ฝึกคิดและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่และพร้อมนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหากับลูกค้าเลย เพราะปัจจุบันเรื่องการซื้อระบบซอฟท์แวร์ไม่ใช่ปัญหา แต่หัวใจสำคัญของงานประเภทนี้คือ การที่พนักงานของ SO ไปอยู่ไซต์งานของลูกค้า ทำให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานจริงว่ามีอะไรบ้าง แล้วควรหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น จนในที่สุดสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มของตัวเองในโซลูชั่นต่างๆ ที่ SO ทำขึ้นมาเอง และก็พร้อมขยายการบริการโดยมีการต่อยอดไปยังลูกค้ารายอื่นตามแต่รายกรณีไป”นายณัฐพลกล่าว

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า สิ่งที่บริษัทจะพยายามเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น คืองานทางด้าน SO NEXT ซึ่งเป็นส่วนงานที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ร้อยละ 5    โดยใช้กลยุทธ์คือ การเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจทุกส่วนมาร่วมกันทำงานมากขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่ต้องช่วยกันโต ส่วนงานไหนที่ไม่ถนัดหรือเชี่ยวชาญ ก็ไปชวนคนที่เขาเก่งกว่ามาช่วยกันทำงานได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้วยว่าจะเป็นคู่แข่งหรือธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ เนื่องจากตลาดของธุรกิจ Outsourcing Services ยังมีมูลค่าที่สูงมากยังสามารถช่วยกันทำงานและกระจายกันเติบโตได้

“สยามราชธานีเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทุกด้าน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่แม้ปัจจุบันจะมีความร่วมมือกับสตาร์ทอัพบางแห่งแล้ว แต่ก็พร้อมที่จะรับพันธมิตรต่อเนื่องหากโซลูชั่นของการทำธุรกิจสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าหรือสามารถอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาเพื่อมาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ แต่ยังขาดความมั่นคงทางการเงินที่จะไปพัฒนางานให้เป็นสเกลอัพที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสยามราชธานีก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนหรือหาลูกค้าให้ด้วย”

นอกจากนั้น ต้องพยายามนำสิ่งที่สตาร์ทอัพมีมาประยุกต์กับประสบการณ์ของบุคลากรของบริษัท รวมถึงกรณีศึกษาหลายอย่างที่เกิดจากหน้างานที่พนักงานไปอยู่กกับลูกค้าตลอด มาประมวลตามกระบวนการวิศวกรรมที่มี โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม จนสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไปเน้นกลยุทธ์ทำงานในธุรกิจหลัก (Core Business) ส่วนเรื่องที่ไม่ใช่แผนงานหลักของบริษัทแต่ก็มีความสำคัญในการดำเนินทำธุรกิจก็ให้สยามราชธานีเป็นผู้ดูแลและบริการแทน

สำหรับมุมมองธุรกิจ Outsourcing Services ยังมองว่า หลังจากเกิดโควิด-19 ธุรกิจยิ่งต้องปรับตัวรวดเร็วมากขึ้น และมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนในการบริหารค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องใช้การบริการจากข้างนอกในส่วนงานที่แยกส่วนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีกับสยามราชธานี