“ไทยเบฟ” กางแผน PASSION 2025 ฝ่าวิกฤต COVID-19 ปักธงผู้นำธุรกิจเครื่องดื่ม และอาหารในอาเซียน

แม้จะเป็นปีแห่งความยากลำบากของทุกธุรกิจ กับการฝ่าวิกฤต COVID-19 ปีนี้ภายในงานแถลงผลประกอบการของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็จัดแบบ New Normal เพื่อแถลงทิศทางประจำปี อีกทั้งยังเป็นการได้เจอสื่อมวลชนครั้งใหญ่ แถลงทิศทางของทุกยูนิตในเครือ

ในปีนี้ไทยเบฟได้ปรับแผนทางธุรกิจเพื่อเผชิญกับทุกโอกาส และความท้าทายเพื่อที่จะก้าวแกร่งขึ้นกว่าเดิม Stronger Together Towards 2025 เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มครบวงจรที่มั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน Stable and Sustainable ASEAN Leader ภายใต้วิสัยทัศน์ PASSION 2025

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีความต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ทุกธุรกิจต้องมีการตื่นตัวและมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อวางแผนรับมือกับวิถีใหม่ในยุค New Normal ไปพร้อมกับการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกวันนี้พวกเราทุกคนรับมือ และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเต็มความสามารถ ไทยเบฟเองได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดในฐานะที่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารครบวงจรเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ แม้ว่าเราเองจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่มีการปิดช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญ

แต่จากการปรับแผนการดำเนินงาน และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้บริษัทมีกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 36,638 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และยังคงเป็นบริษัทเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นบริษัทในอาเซียนบริษัทเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเอเชียในด้านรายได้และมูลค่าทางการตลาด

ธุรกิจสุรา

สุราเป็นอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เพราะช่วงล็อกดาวน์ ทำให้สถานบันเทิงต้องปิด เพียงแต่ว่าภาพรวมของไทยเบฟไม่ได้กระทบเท่าที่ควร เรียกว่าทรงตัวเสียมากกว่า เพราะผู้บริโภคเหล้าขาวส่วนใหญ่จะบริโภคในบ้านอยู่แล้ว

ทำให้ตลาดสุราต้องหาตลาดใหม่ เพราะในประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ทางไทยเบฟจึงเบนเข็มไปทำกลุ่มวอดก้า และบรั่นดีมากขึ้น เพราะยังมีช่องว่างในการเติบโต

ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา รองผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินและบัญชี ธุรกิจต่างประเทศ กล่าวว่า

“ปีนี้ยังคงเป็นปีที่ท้าทายจากสถานการณ์ของไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยกลุ่มธุรกิจสุราในภาพรวมยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ซึ่งตอบรับกับการบริโภคที่บ้าน มาจากสินค้าหลักของไทยเบฟ คือ

  • รวงข้าว สุราขาวอันดับ 1 ในประเทศไทย และเพื่อตอกย้ำการเป็นสุราสีอันดับ 1
  • หงส์ทอง ได้ปรับบรรจุภัณฑ์ขนาด 350 มล. และ 700 มล. ให้มีภาพลักษณ์หรูหราและทันสมัยมากขึ้น หากดูจากผลวิจัยการตลาดในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง
  • แสงโสมสามารถเติบโตกว่า 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ สามารถเพิ่มการเติบโตได้ถึง 26%
  • เมอริเดียนบรั่นดี ยังสามารถเพิ่มการเติบโตได้ถึง 39%
  • คูลอฟ วอดก้า สามารถเติบโตและมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 32% ในส่วนของแกรนด์รอยัลกรุ๊ปซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมา ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งประกอบกับมีเสถียรภาพของกระแสเงินสด

ธุรกิจเบียร์

ธุรกิจเบียร์ได้รับผลกระทบแบบตีคู่มากับธุรกิจสุรา แต่พฤติกรรมของคนดื่มเบียร์ มักจะดื่มภายในบ้านมากขึ้น ทำให้ทางไทยเบฟได้ปรับแผน หรือทำการตลาดเพื่อรองรับพฤติกรรมการดื่มที่บ้านมากขึ้นนั่นเอง พร้อมบริการเดลิเวอรี่จัดส่งถึงบ้าน

เลสเตอร์ ตัน ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า

“ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่เบียร์ช้างต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการตลาด แม้ว่าจะต้องประสบกับสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ที่ยากจะคาดการณ์ แต่กลุ่มธุรกิจเบียร์ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ส่งผลให้ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มธุรกิจเบียร์ได้ริเริ่มและดำเนินการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินงานในโรงงานผลิตเบียร์ได้อย่างราบรื่น ซึ่งรวมถึงการรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมา ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้านเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มบริการจัดส่งถึงบ้าน และริเริ่มนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างแข็งแกร่ง

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนาม ถูกขับเคลื่อนโดยการเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตอย่างคุ้มค่าในประเทศไทย ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนผลการดำเนินงาน ได้แก่ การบริหารตลาดแบบเจาะรายพื้นที่ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง Transformation และการจัดการทรัพยากรให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ธุรกิจการส่งออกและกลุ่มตลาดต่างประเทศของกลุ่มธุรกิจเบียร์

ได้มีการยกระดับการขายโดยตั้งเป้าไปที่การขายและการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งพร้อมการบริหารเรื่องต้นทุนอย่างเข้มงวด ดังนั้น การบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม รวมถึงการมีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้กลุ่มธุรกิจเบียร์ขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จที่น่าพอใจท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความท้าทายและไม่เอื้ออำนวยในปัจจุบัน

เลสเตอร์ ยังให้ข้อมูลในส่วนของ บริษัท ไซง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น (ซาเบโก้) เพิ่มเติมอีกว่า ปี 2564 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับซาเบโก้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศเวียดนาม และการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวดทั้งประเทศ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมเบียร์และ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ

ซาเบโก้ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ในการดำเนินธุรกิจ มีการดูแลความปลอดภัย และสวัสดิภาพของตัวแทนขาย ผู้สนับสนุน การขาย รวมถึงพนักงานในโรงเบียร์และฝ่ายผลิต สิ่งสำคัญที่สุด คือ บริษัทต้องการให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ปัจจุบันพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 46% ของพนักงานทั้งหมด ในท่ามกลางวิกฤตนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมมากขึ้น โดยได้เปิดตัวโครงการ Community Care และบริจาคเงินเกือบ 10,000 ล้านดอง เพื่อมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลและมอบสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้กับครอบครัวที่อยู่ในเขตกักตัว จำนวน 5,000 ครอบครัว

ความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของ ซาเบโก้ มาโดยตลอด โดยเริ่มดำเนินการเชิงรุกเพื่อปรับปรุงการขายและเพิ่มความสามารถของพนักงานขาย เนื่องจากบริษัทตระหนักดีว่า ความเป็นมืออาชีพของพนักงานขายและตัวแทนจำหน่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นเราจึงเริ่มนำระบบ Sales Force Automation (SFA) และ Distributor Management System (DMS) มาใช้ในบริษัทเทรดดิ้งทั้งหมด

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วที่บริษัทได้เปิดตัว ซาเบโก้ 4.0 ซี่งเป็นโครงการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และดิจิทัลของกลุ่มในระยะ 3 ปี เราได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาแนวทางในการลดต้นทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยได้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเบียร์ ผ่านการจัดซื้อวัตถุดิบร่วมกันและจัดตั้งระบบศูนย์กลางของชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องจักรของโรงเบียร์ต่าง ๆ ตลอดจนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

แม้ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะยังสามารถทำการตลาด โฆษณาได้ตามปกติ แต่มาตรการไม่ให้นั่งทานอาหารที่ร้านได้นั้น ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากร้านอาหาร อีกทั้งผู้คนยังเดินทางน้อยลง ทำให้กลุ่มนี้มีรายได้ลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายลดลง 8.6%

โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาความเป็นเลิศ เปิดเผยว่า

“ปี 2564 เป็นปีแห่งความท้าทาย โดยทุกประเทศทั่วโลกรวม ทั้งประเทศไทยยังคงต้องเผชิญหน้าอย่างหนักกับปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ต่างได้รับผลกระทบไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง สร้างความกดดัน และเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามบริโภคภายในร้านอาหารเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19

ส่งผลต่อเนื่องให้กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารจัดการ รวมถึงการให้บริการกับร้านค้า ในงวด 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายจานวน 11,688 ล้านบาท ลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายลดลง 8.6%

มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อรองรับกับสถานการณ์มากขึ้น ได้แก่

  • ปรับรูปแบบการขายมุ่งเน้นร้านค้าปลีก ร้านค้าในชุมชนมากยิ่งขึ้น บริษัทหันมามุ่งเน้นการขายที่ช่องทางร้านค้าปลีกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าปลีกในบริเวณแหล่งชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ทำงานที่บ้านสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทในร้านค้าใกล้บ้านได้โดยสะดวก ไม่จำเป็นต้องออกไปนอกพื้นที่ ที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • นำเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการขาย SERMSUK CAMP ช่วยให้พนักงานขายสามารถทำงานผ่านแท็บเล็ต ที่ย่อข้อมูลการขายทั้งหมดที่จำเป็น อยู่เพียงแค่ปลายนิ้ว SERMSUK FAMILY ทำให้บริษัทสามารถให้บริการร้านค้าได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณขายในช่องทางร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • นำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้กับผู้บริโภค บริษัทได้นำเสนอน้ำดื่มคริสตัล น้ำดื่มคุณภาพ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นสำหรับสุขภาพและการดำรงชีพ ด้วยการทำราคาขายที่ถูกลงให้กับร้านค้า ตลอดจนห้างท้องถิ่นและร้านค้าปลีก และได้นำเสนอเครื่องดื่ม วีบูสท์ วิตามินซี 200% ผสมเบต้ากลูแคน รวมถึงเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ พลัสซี เพื่อเกาะติดเทรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
  • เสริมแกร่งทีมงาน เตรียมพร้อมรับมือโลกใหม่ยุค New Normal บริษัทได้เตรียมความพร้อมให้ทีมงานและคู่ค้า โดยประสานให้ได้รับการตรวจโควิดและฉีดวัคซีนตลอดจนมีการเพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และเตรียมความพร้อมในการให้บริการคู่ค้าสำหรับช่องทางร้านอาหารและโรงเรียนที่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง

ธุรกิจอาหาร

เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า ไม่ให้เดลิเวอรี่ รวมถึงไม่ให้นั่งทานในร้าน ทำให้ต้องกระจายความเสี่ยงในการหาโมเดลใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายและเปลี่ยนแปลง กลุ่มธุรกิจอาหารมีการปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โดยในปีที่ผ่านมาได้ปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

  1. Driving Brand Penetration & Accessibility เพื่อเป็นการขยายช่องทางการเพิ่มรายได้ให้ได้มากที่สุด ในปีที่ผ่านมาเรามีการเปิดขยายสาขาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่นอกห้าง เพิ่มขึ้น 24 สาขา วันนี้เรามีสาขาทั้งหมดรวม 673 สาขา (ณ 30 ก.ย. 2564) รวมทั้งเปิดรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ Food Truck อีกจำนวน 10 คันเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
  2. Driving the Delivery Channel โดยพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของเราเอง ประกอบกับขยายช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านพันธมิตรทั้ง Food Aggregator และ E-Marketplace ส่งผลให้ช่องทางเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  3. Digital & Technology ให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับปี 2565 ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจอาหารจะขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์หลัก อันได้แก่

  1. Drive Brand Penetration & Accessibility ขยายสาขาในรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึง Food Truck และร้านแบบ To go
  2. Grow Off-Premise Channels เสริมแกร่งและขยายช่องทางการขายนอกสถานที่
  3. Digitize Customer Engagement สร้างความผูกพันกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล
  4. Innovation นำนวัตกรรมมาสร้างประสบการณ์ใหม่เพิ่มความสะดวกสบาย ความปลอดภัยให้กับลูกค้า
  5. Sustainability ดำเนินธุรกิจตามแนวคิดด้านความยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม