ในปัจจุบันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจต่างๆ อย่างมากมาย โดยยังมีความท้าทายใหม่ๆ เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ไปอย่างพลิกโฉม ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ผ่านการประเมิน/ปรับกลยุทธ์องค์กร การปรับโมเดลทางธุรกิจ ตลอดทั้ง การปรับการดำเนินงาน การบริหารองค์กรให้สอดรับกับความความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องเร่งทบทวนวิธีการบริหารบุคลากร เช่น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายองค์กรได้ปรับให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน อีกทั้ง ในปัจจุบันความต้องการของพนักงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ เช่น พนักงานมุ่งเน้นการทำงานที่ประสบผลสำเร็จควบคู่กับการมีความสุขในการทำงาน ดังนั้น การกำหนดกลยุทธ์การบริหารบุคลากร และการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้ง การพัฒนา และรักษาไว้ซึ่งพนักงานที่มีศักยภาพสูง จึงเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จที่สำคัญในการบริหารบุคลากรในยุคความปกติใหม่” เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าว
“การก้าวผ่านความท้าทายในการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคความปกติใหม่ซึ่งมีอยู่มากมายนั้น ประการแรก คือการกำหนดกลยุทธ์/เป้าหมายในการบริหารบุคลากรที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ขององค์กรในยุคความปกติใหม่ ประการที่สอง การกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และคุณสมบัติของพนักงานที่คาดหวัง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ รวมถึงการกำหนดเป้าหมาย บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างชัดเจน เช่น บทบาทในการพัฒนาพนักงานให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานในรูปแบบใหม่ การสร้างความผูกพันของพนักงาน เป็นต้น ประการสุดท้าย การทบทวนรูปแบบการดำเนินงานด้านการบริหารบุคลากร ที่ประกอบด้วยทั้งนโยบาย กลไก บุคลากร กระบวนการ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล” ธิดารัตน์ ฉิมหลวง กรรมการบริหารฝ่ายปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว
เพื่อเพิ่มความคล่องตัว ยืดหยุ่นทางธุรกิจ องค์กรจำเป็นต้องมีกลยุทธ์การบริหารบุคลากรที่ศักยภาพอย่างเหมาะสม โดยธุรกิจสามารถพิจารณาได้จากหลัก 4Rs ดังนี้:
- Resilience (ความคล่องตัวและยืดหยุ่น) คือความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยองค์กรจำเป็นต้องมีการออกแบบองค์กร ไม่ว่าจะผ่านการออกแบบโครงสร้างองค์กร หรือการจัดลำดับชั้นงานที่เสริมสร้างความคล่องตัว มีการผ่องถ่ายกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม รวมไปถึงเสริมสร้างการทำงานเป็นทีม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว
- Reshape (การปรับการบริหารอัตรากำลังรูปแบบใหม่) โดยสามารถดำเนินการได้ผ่านแนวคิด 4Bs ดังนี้
- Buy: การสรรหาพนักงานที่มีศักยภาพใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ
- Build: การพัฒนาความสามารถของพนักงานที่มีอยู่ เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์ แนวทางการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
- Borrow: การจ้างพนักงานชั่วคราว การจัดจ้างพนักงาน/หน่วยงานภายนอกเพื่อช่วยดำเนินงานในส่วนที่เหมาะสม
- Bot: การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากร และการจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- Reskill and Upskill (การเพิ่ม/ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร) สิ่งสำคัญยิ่งในการบริหารบุคลากรให้ประสบความสำเร็จ คือการเร่งเพิ่มยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อสนับสนุนต่อเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ขององค์กรที่ปรับเปลี่ยนไป โดยมีมิติที่หลากหลายการพัฒนาบุคลากรที่หลากหลายด้านที่องค์กรต้องคำนึงถึง เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) การมุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะสร้างให้พนักงานสามารถช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน
- Retain (การรักษาพนักงานให้ดำรงอยู่กับองค์กร) แม้ว่าองค์กรจะมีการสรรหาพนักงานที่มีศักยภาพสูงเข้ามาในองค์กร หรือการเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถให้กับพนักงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่หากองค์กรไม่สามารถรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้ได้ นั่นก็เท่ากับว่าความพยายามที่ทำมาก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้น การรักษาไว้ซึ่งพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีศักยภาพสูง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยองค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญและกำหนดกลยุทธ์/แนวทางที่สามารถสร้างให้พนักงานมีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศควบคู่กับการมีความสุขในการทำงาน
“หลังจากที่องค์กรได้พิจารณาออกแบบการบริหารบุคลากรเพื่อตอบโจทย์การบริหารงานยุคใหม่แล้ว จำเป็นต้องมีการสร้างแผนงานเพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสม โดยแผนงานต้องครอบคลุมกิจกรรมขับเคลื่อนที่สำคัญ เช่นทรัพยากรที่ใช้ ผู้รับผิดชอบ ระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน โดยทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในพื้นฐานของความสอดคล้องและเหมาะสมกับกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวขององค์กร เพื่อสร้างให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ธิดารัตน์ กล่าว