ซีพีจับมือกลุ่มธุรกิจในเครือ ร่วม “ประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อน” พร้อมภาคเอกชนชั้นนำของไทย บนเวทีประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021”

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับสหประชาชาติ (UN) จัดงานการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” ภายใต้แนวคิด “A New Era of Accelerated Actions” รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จัดเสวนาพร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ผ่านรูปแบบออนไลน์ มีผู้นำจากภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชนจากหลากหลายองค์กรเข้า โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยนายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ กว่า 200 องค์กรทั่วประเทศ

ในการนี้ บริษัทและกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ได้เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ครั้งสำคัญในการร่วมยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วย ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส)  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด เพื่อร่วมเดินหน้าเร่งลงมือทำอย่างจริงจังและวัดผลได้ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนเครือซีพีร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กล่าวแสดงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของ GCNT ในการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ภาคธุรกิจจะต้องเป็นผู้นำและร่วมสนับสนุนภาครัฐในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ โดยเฉพาะการขยายผลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-based, Circular และ Green Economy อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพื้นฐาน ชีวภาพ และธุรกิจมูลค่าสูงที่สร้างมลพิษต่ำ โดยขณะนี้สมาชิกของ GCNT ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ และที่กำลังจะมีขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนลดภาวะโลกร้อนและช่วยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วจำนวน 510 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 420,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การส่งเสริมความโปร่งใสผ่านตัวชี้วัดด้วยการจัดทำรายงานการจัดการความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจต่างๆในทุกปีด้วย ตลอดจนการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นในอนาคต

“เราต้องเร่งมือ เร่งการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทย สู่ยุค Net Zero ให้เร็วที่สุด ให้เป็น Race to Zero อย่างแท้จริง ด้วยระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ต้องเร่งมือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ”นายศุภชัยกล่าว

ทั้งนี้ ในงานเสวนาและประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อน “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” เครือซีพี โดยนายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร ได้เป็นผู้แทนเครือฯ เข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ร่วมกับนายอาเบล เติ้ง (Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นางนาถฤดี โฆสิตาภัย. รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การบริหารกลาง เอสซีจี และนายเบอร์นาร์โด คาลซาดิยา – ซาร์เมียนโต้ (Bernardo Calzadilla- Sarmiento) ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าการลงทุนและนวัตกรรม องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

นายสมเจตนา กล่าวว่า เครือซีพีได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยกลุ่มธุรกิจของซีพีทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ได้ตั้งเป้าในการนำธุรกิจทั้งหมดบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยที่ผ่านมาเครือซีพีได้ร่วมปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Race to Zero ของสหประชาชาติ โดยมีการดำเนินการ อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว รวมทั้งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากขึ้นในกระบวนการการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาผลิตสินค้าของซีพี

นายสมเจตนา กล่าวว่า ซีพีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนในกระบวนการผลิตต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดรวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยตั้งเป้าหมายการลดขยะอาหารและของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ทั้งนี้การประกาศเจตนารมณ์ของภาคเอกชนในการร่วมจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการนำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา Climate Change และต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ หรือ Mindset ด้วยการสร้างและทดลองธุรกิจใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุค Net Zero ตลอดห่วงโซ่อุปทาน