สยามราชธานี หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) ปรับทัพองค์กร ปรับสายงานเดิมให้คมชัดขึ้น พร้อมผุดสายงานใหม่หาพันธมิตรจับมือลุยสร้างโอกาสเพิ่ม หลังมติคณะกรรมการบริษัท ที่แต่งตั้งนายจิรณุ กุลชนะรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร แทนนายไกร วิมลเฉลา โดยนายจิรณุยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาบริษัทอย่างต่อเนื่อง และตั้งนายณัฐพล วิมลเฉลา มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทนนายจิรณุ กุลชนะรัตน์ หวังดัน SO เติบโตอัพสเกลด้วยเทคโนโลยี
นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO กล่าวถึงการจัดทัพองค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนงานบริษัทว่า ปัจจุบันบริษัทเริ่มปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการใช้วิศวกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและสอดรับกับการทำงานแบบ Agile ที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดความคล่องตัวและพร้อมเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือสเกลอัพได้ทุกเวลา ขณะเดียวกันยังสามารถบริหารจัดการเรื่องการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost Control) แบบอัตโนมัติให้ได้มากที่สุดด้วย
“แม้สยามราชธานีจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็จะไม่ลืมสิ่งที่ช่วยให้บริษัทเติบโตมาได้กว่า 45 ปี ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานหรือพนักงานที่ช่วยสร้างทำให้บริษัทมีกำไรจากส่วนแบ่งการตลาดที่สูง (Cash Cow) คืออะไรที่ทำได้ดีอยู่เดิมแล้วก็ต้องพยายามรักษาไว้” นายณัฐพลกล่าว
อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีการปรับปรุงแยกส่วนงานทั้งที่มีอยู่เดิม พร้อมกับตั้งส่วนงานใหม่ขึ้นมาโดยมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการแต่ละสายงานเข้ามาดูแลตามความเชี่ยวชาญต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อสามารถกำหนดกลยุทธ์แต่ละส่วนงานที่มีความเชี่ยวชาญและอยู่ในความรับผิดชอบให้ตรงกับกลยุทธ์ที่วางไว้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สายงานการตลาด สายงานซัพพอร์ตโปรแกรมเมอร์ (Develop & Support) สายงานที่ดูแลเรื่องการซื้อกิจการ (M&A) และควบรวมกิจการ (Joint Venture) สายงานที่มาสนับสนุนและดูแลเรื่องโปรเจ็กต์แต่ละอย่างให้ชัดเจน และสายงานหาโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เข้ามาภายในบริษัทมากขึ้น (Project & Next)
“การแต่งตั้งผู้อำนวยการแต่ละสายงานให้มีความเฉพาะมากขึ้นนั้น เพื่อสอดรับกับนโยบายหลักของบริษัทที่ต้องการให้บริหารงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ที่ให้อำนาจผู้บริหารแต่ละส่วนสามารถบริหารจัดการงานเองได้ โดยไม่ต้องผ่านซีอีโอหมดทุกเรื่อง ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละส่วนได้โฟกัสงานตามที่ตัวเองถนัดและเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ อย่างส่วนงานใหม่ที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นมา เช่น สายงานที่ดูแลโปรเจ็กต์ก็เพื่อคิดค้นและพัฒนาเดินเครื่องหาโซลูชั่นใหม่ให้กับหน่วยงานอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับฝ่าย JV ที่พร้อมหาพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่อยู่อุตสาหกรรมเดียวกันหรือสตาร์ทอัพที่มีโครงสร้างธุรกิจคล้ายกับ SO มาทำงานเพื่อสร้างโอกาสใหม่ด้วยกัน” นายณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย