เจาะลึก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี 64 ที่ผู้ขายต้องรู้ เพื่อทำความเข้าใจ ‘ลูกค้า’ ให้มากกว่าลูกค้าเข้าใจตัวเอง

ตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 อีคอมเมิร์ซหรือการช้อปออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางเลือกรองของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ขายอีกต่อไป ซึ่งทาง ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรืออีคอมเมิร์ซ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงอินไซต์ต่าง ๆ ของตลาด เพื่อเป็นแนวทางในการทำการค้าออนไลน์ในช่วงขาขึ้นนี้

คนไทยติดมือถืออันดับ 3 ของโลก

ในปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8.44 ชั่วโมง/วัน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.54 ชั่วโมง/วัน โดยใช้เวลา 5.07 ชั่วโมง/วันบนมือถือ สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3.39 ชั่วโมง/วัน

แสดงให้เห็นว่า วิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบันผูกติดกับการใช้งานสมาร์ทโฟน และข้อมูลในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทย 3 ใน 4 คน หรือ 74% ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่าเดิมเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมง/วัน มีเพียง 6% เท่านั้นที่ใช้เวลาน้อยลง

Omni-channel Comparison Shopping นิยามนักช้อปไทย

ปัจจุบัน ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยมีประมาณ 59 ล้านคน และมีจำนวนถึง 42 ล้านคนที่เรียกได้ว่าเป็น Digital Consumers หรือ ผู้ที่ใช้จ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกิจกรรมอันดับ 1 ที่คนไทยใช้บนอินเทอร์เน็ต คือ เพื่อความบันเทิง ตามด้วยการใช้งาน โซเชียลมีเดียและการสื่อสาร ส่วนการ ช้อปปิ้ง เป็นอันดับ 3 ซึ่งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนไทยในปัจจุบันเรียกว่า Omni-channel Comparison Shopping หรือต้องหาข้อมูลเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจ

เพราะไม่ว่าจะซื้อขายผ่านช่องทางใดก็ตาม แต่คนไทย 9 ใน 10 หรือ 90% จะหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ โดย 55% ใช้ออนไลน์เพื่อหาข้อมูล 28% ใช้ทั้งออนไลน์และหน้าร้านในการหาข้อมูล 10% หาข้อมูลจากหน้าร้าน และ 8% ซื้อเลยโดยไม่หาข้อมูล

“ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในตอนนี้ไม่ว่าซื้อออนไลน์หรือออฟไลน์ เขาต้องหาข้อมูลก่อน และออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลกับผู้บริโภคไปแล้ว”

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

อีคอมเมิร์ซยังโตแม้หมดโควิด

ย้อนไปในช่วงปี 2015-2019 ที่ผ่านมา หน้าร้านออฟไลน์ (Offline Retail) มีการเติบโตเฉลี่ย 5% ขณะที่การขายของออนไลน์ (Online Retail) มีการเติบโตถึง 54% ต่อปี แต่ในปี 2020 ที่มี COVID-19 ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ ต้องปิดตัวไป ทำให้ตลาดติดลบ -5% แต่ช่องทางออนไลน์เติบโตถึง 81%

  • ปี 2019 อีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 163,000 ล้านบาท (+81%)
  • ปี 2020 อีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 294,000 ล้านบาท (+21%)
  • ปี 2021 (คาดการณ์) มีมูลค่า 365,000 ล้านบาท (+21%)

“โควิดเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีทั้งโปรโมชัน มีความสะดวก ประหยัดเวลา และสามารถเทียบราคาได้ง่าย ซึ่งตรงกับพฤติกรรมคนไทย ดังนั้น แม้หมดโควิดแต่อีคอมเมิร์ซจะยังเติบโตได้อีกต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ช่องทางที่มีความนิยมสุดของผู้บริโภคไทย ได้แก่

  • อี-มาร์เก็ตเพลส (32%)
  • โซเชียลมีเดีย (21%)
  • บริการสั่งอาหารออนไลน์/แอปพลิเคชันครบวงจร (13%)
  • เว็บไซต์แบรนด์ (12%)
  • เว็บไซต์ห้างสรรพสินค้า (12%)
  • ร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็ก (12%)

“เราไม่จำเป็นต้องเลือกช่องทางไหนเป็นพิเศษ แต่สามารถทดลองใช้ได้ทุกช่องทางเพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ตอนนี้อีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดของธุรกิจในวันนี้”

รู้จักนักช้อป 4 ประเภท

ที่ผ่านมา ลาซาด้าพบว่าลูกค้าที่เข้ามาในแพลตฟอร์มจะมี 2 แบบ โดย 53% จะวางแผนการช้อปไว้แล้ว ส่วนอีก 47% ไม่ได้วางแผน นอกจากนี้ ลาซาด้ายังได้แบ่งลูกค้าเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • ผู้นำเทรนด์ : เน้นหาของใหม่ ๆ ช้อปแบบไม่คิด ชอบโพสต์และแชร์เกี่ยวกับการช้อป ใช้อารมณ์เป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุ 18-24 ปี
  • ผู้แสวงหา : ชอบหาสินค้าแปลกใหม่เช่นกัน แต่จะหาข้อมูลสินค้าด้วย ซึ่งต้องมีรีวิว มีข้อมูลชัดเจน เมื่อซื้อแล้วมักจะชอบรีวิวและแนะนำสินค้าให้คนอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุ 18-36 ปี
  • นักช้อปผู้มีเป้าหมาย : เป็นกลุ่มที่มีสินค้าหรือแบรนด์ในใจ คาดหวังประสบการณ์ที่ดีในการช้อปปิ้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • นักช้อปอินดี้ : ไม่ได้มีเป้าหมายตอนต้น แต่ไถไปเรื่อย ๆ หากเจอของถูกใจจะซื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 18-24 ปี

นอกจากนี้ยังพบว่า 41% ของลูกค้าลาซาด้าใช้โซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาสินค้า 36% ใช้เพื่อดูรีวิวสินค้า 20% ใช้ดูดารา เซเลบ และในส่วนของสื่อที่มีผลต่อการซื้อของลูกค้าลาซาด้ามี 4 กลุ่ม ได้แก่

  • โฆษณาออนไลน์ (52%)
  • อินฟลูเอนเซอร์, บล็อกเกอร์ (30%)
  • สื่อโฆษณาทีวี (24%)
  • ดารา, คนดัง (10%)

“ทุกวันนี้ ร้านไม่ใช่แค่ขายของอย่างเดียว แต่การสร้างแบรนด์ก็สำคัญ ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจลูกค้าว่ามีเส้นทางการคิดก่อนจะซื้ออย่างไร ต้องเข้าใจลูกค้ามากกว่าลูกค้าเข้าใจตัวเอง เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต”