นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บตอบรับนโยบายภาครัฐ การเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศิจกายน 2564 โดยจัดโครงการ GMS LOGISTIC Business MICE Roadshow เส้นทาง R3A – EEC อุดรธานี – หนองคาย – ขอนแก่น – บุรีรัมย์ – กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2564 โดยนำคณะนักธุรกิจไมซ์ ลงพื้นที่ทำกิจกรรม Business Matching กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น และบุรีรัมย์ เพื่อเตรียมพร้อมรับนักเดินทางไมซ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน สปป.ลาวและเวียดนาม จากการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564
สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว จะมีการเชื่อมต่อจากประเทศจีน ผ่าน สปป.ลาว เข้ามาบรรจบประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศมากขึ้น และเป็นมูลค่าที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไมซ์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เพื่อทำการติดต่อค้าขาย ลงทุน ทำธุรกิจ รวมถึงการร่วมประชุม สัมมนาทางการค้าต่างๆ ซึ่งจะสามารถสร้างเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ เป็นมูลค่ามหาศาล และสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป นอกจากนี้ การเดินทางเข้ามาของนักเดินทางไมซ์ ยังสร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในการจัดงานขนาดใหญ่งานระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ
“การเปิดใช้โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว สิ่งที่น่าจะตามมา คือ การเดินทางของคนจีนจำนวนมหาศาล เพื่อทำธุรกิจและท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักเดินทางไมซ์ ที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ โดยจะมาสู่จังหวัดหนองคาย และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลในวันที่ 1 พ.ย. และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 คลี่คลายไปในที่ทางที่ดี” นายสราญโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ จากนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล “ทีเส็บ” พร้อมเต็มที่สำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย โดยเร่งสื่อสารผ่านสำนักงานตัวแทนการตลาดทั่วโลกถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการจัดงานไมซ์ทุกเซ็กเตอร์จากทั่วโลก และในโอกาสเปิดใช้โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ในครั้งนี้ เส้นท่างดังกล่าว จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศจีน สามารถนำพนักงานเดินทางเข้ามาจัดประขุม สัมมนาต่างๆ ในประเทศไทยได้มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยการโดยสารรถยนต์และเครื่องบิน
ด้านนายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ในฐานะพันธมิตรร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดกิจกรรม business matching ร่วมกับ สสปน. ในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับนักเดินทางจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว รถไฟขบวนนี้ใน 1 วัน จะมีขบวนรถไฟวิ่งทั้งหมด 18 ขบวน แยกเป็นขบวนสินค้า 14 เที่ยว และขนส่งนักท่องเที่ยว 4 เที่ยวต่อวัน ในแต่ละวันจะมีทั้งสินค้า และนักท่องเที่ยวมาที่ชายแดนจังหวัดหนองคายถึงวันละ 5000-10,000 คน โดยมีการคาดการณ์กันว่า หลังการเปิดรถไฟขบวนนี้ ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 480,000 คนในปี 2568 เช่นเดียวกันเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จังหวัดหนองคายมีมูลค่าการค้าชายแดน สูงถึงกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ มั่นใจว่าการเปิดรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทั้งเชิงการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ และจะสามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยเพิ่มขึ้น