สยามราชธานี กำไร 9 เดือนพุ่ง 25% รับรู้รายได้ค่าเช่าต่อเนื่อง เล็งลงทุนสตาร์ทอัพ-M&A ต่อจิ๊กซอว์เติบโตต่อเนื่อง

SO สยามราชธานี กำไรสุทธิ 9 เดือนแรก ปี 2564 เพิ่มขึ้น 25.33% แตะระดับ 126.27 ล้านบาท เฉพาะงวดไตรมาส 3/64 มีกำไรเติบโต 3.23% ได้แรงหนุนรับรู้รายได้ค่าเช่าและบริการรถยนต์ให้เช่า (SO WHEEL) จากลูกค้าหน่วยงานของรัฐรายใหญ่ต่อเนื่อง ด้าน “ซีอีโอ” กางแผนเดินเครื่องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงาน-เพิ่มส่วนงาน SO NEXT ปั้นรายได้ พร้อมเปิดรับพันธมิตร สนใจลงทุนสตาร์ทอัพ หวังผนึกกำลังช่วยกันเติบโต แย้มแผนเดินหน้าซื้อกิจการบริษัทเป้าหมาย “Outsource-Software Enterprise-Professional Training” ต่อจิ๊กซอว์เติบโตต่อเนื่อง-เดินแผนทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยว่า แม้บริษัทจะเผชิญความท้าทายจากการระบาดโควิด-19 และผลกระทบล็อกดาวน์จากมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3/64 แต่ผลประกอบการของบริษัทยังสามารถมีอัตราการเติบโตที่ดี โดยสำหรับผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ก.ย.2564) บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,554 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้แรงสนับสนุนจากรายได้ค่าเช่าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.4% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้บริการรถยนต์ให้เช่าซึ่งบริษัทได้ลูกค้าหน่วยงานของรัฐรายใหญ่รายหนึ่ง ที่มีการทำสัญญาในรูปของสัญญาระยะยาว (อายุสัญญา 5 ปี) ในช่วงเดือน เม.ย.63 ทำให้บริษัทมีการรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากสัญญาดังกล่าว

บริษัทมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 291.74 ล้านบาท เติบโต 6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 18.77% จากระดับ 17.69% และสามารถทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 126.27 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 25.33% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้เฉพาะงวดไตรมาส 3/64 บริษัทยังมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.23% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 ที่ผ่านมา บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1,552.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.19% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากรายการลูกหนี้การค้าและสินทรัพย์ทางการเงินมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากสิ้นปี 2563 ขณะที่หนี้สินรวมอยู่ที่ 638.70 ล้านบาท ลดลง 4.02% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของหนี้สินตามสัญญาเช่าการเงิน และส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 914.16 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.17% ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสะสมของบริษัทซึ่งเพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิของบริษัทที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด

“ผลประกอบการของบริษัทที่มีการเติบโตนั้น สะท้อนถึงการทำงานของบริษัทที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับมือกับความท้าทายที่้เกิดขึ้น จากทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ทุกอย่างไว รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ รวมถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน”

นายณัฐพล กล่าวถึงวิสัยทัศน์และนโยบายการบริหารธุรกิจหลังจากนี้ว่า สยามราชธานียังจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากเริ่มทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นมาแล้ว 2-3 ปี โดยบริษัทมีเป้าหมายจะเน้นการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ที่ให้อำนาจผู้บริหารแต่ละส่วนสามารถบริหารจัดการงานเองได้ ไม่ต้องผ่านผู้บริหารระดับสูง(CEO) ทั้งหมด รวมถึงใช้กระบวนการทำงานแบบ Agile ที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวให้บริษัทพร้อมเติบโตแบบสเกลอัพได้ตลอดเวลา

“จุดแข็งของสยามราชธานีคือ การที่รวมซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบุคลากรไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลูกค้าได้หลายโซลูชั่น อีกทั้งปัจจุบันบริษัทยังมีลูกค้าที่มั่นคงทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหลากหลายบริษัทที่มีมาตรฐานสูงรวมกว่า 600 สัญญา ส่งผลให้บริษัทสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากลูกค้ามาพัฒนาไปพร้อมๆ ไปกับคู่ค้า

ดังนั้นสิ่งที่บริษัทพยายามเพิ่มสัดส่วนงานให้มากขึ้นต่อจากนี้คือ งานทางด้าน SO NEXT ซึ่งเป็นส่วนงานที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานมากขึ้น โดยปัจจุบันยังมีสัดส่วนรายได้ 5% โดยใช้กลยุทธ์คือการเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมกันทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะสตาร์ทอัพซึ่งปัจจุบันก็มีความร่วมมือกับบางแห่งแล้ว แต่ก็พร้อมที่จะรับพันธมิตรเพิ่มต่อเนื่อง หากโซลูชั่นของการทำธุรกิจสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าหรืออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทก็พร้อมเข้าไปลงทุนและหาลูกค้าให้ด้วย

“ยุคปัจจุบันเราต้องช่วยกันโต ส่วนงานไหนที่ไม่เชี่ยวชาญ ก็ชวนคนที่เขาเก่งกว่ามาช่วยกันทำงานได้ โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นคู่แข่งหรือธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากตลาดของธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรยังมีมูลค่าที่สูงมาก โดยสิ่งที่เห็นหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจยิ่งต้องปรับตัวรวดเร็ว และมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนในการบริหารค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องใช้การบริการจากข้างนอกในส่วนงานที่แยกส่วนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อสยามราชธานี” ซีอีโอ กล่าวสรุป