กลุ่มดุสิตธานีเผยผลงานไตรมาส 3 ธุรกิจโรงแรมกระเตื้อง อัตราเข้าพักเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าปรับรูปแบบบริการ Dusit Graciousness สอดรับเทรนด์ท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

กลุ่มดุสิตธานีเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 302 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (QoQ) และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่รายได้รวมในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อยู่ที่ 896 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้รวม 2,618 ล้านบาท เผยธุรกิจโรงแรมดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ทำให้อัตราการเข้าพักสูงขึ้น พร้อมรับอานิสงส์จากกลยุทธ์การปรับโครงสร้างทรัพย์สิน (Asset Optimization) ส่งผลให้รับรู้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ยอมรับยังคงเกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน พร้อมเดินหน้าปรับแผนธุรกิจ เน้นวางกลยุทธ์ระยะยาวปรับรูปแบบ Dusit Graciousness สอดรับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มดุสิตธานีในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคมถึงกันยายน) ปี 2564 แม้บริษัทฯ จะยังมีผลขาดทุนสุทธิ แต่ก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้ และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากธุรกิจโรงแรมที่กลับมากระเตื้อง หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวางขึ้น พร้อมๆ กับการพัฒนายารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพขึ้น และการเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้มากขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยได้เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี จนกระทั่งสามารถเปิดประเทศได้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

“ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยของกลุ่มดุสิตธานีเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากการเปิดตัวโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญแล้ว เรายังเตรียมความพร้อมของโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้มีอัตราการเข้าพักที่โรงแรมสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จากภาครัฐในช่วงต้นเดือนกันยายน ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทาง ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน เริ่มดีขึ้น สำหรับธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ในต่างประเทศในไตรมาส 3 ปี 2564 ยังคงมีอัตราการเข้าพักที่สูงกว่าอัตราการเข้าพักธุรกิจโรงแรมของบริษัทฯ ในประเทศไทย และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรมดุสิตธานี มะนิลา โรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ และโรงแรมอื่นๆ ที่บริษัทฯ รับจ้างบริหารในภูมิภาคตะวันออกกลาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว

ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ยังได้รับแรงสนับสนุนจากกลยุทธ์ปรับโครงสร้างทรัพย์สิน (Asset Optimization) ส่งผลให้กลุ่มดุสิตธานีสามารถรับรู้รายได้และกำไรจากการขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ให้กับนักลงทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและยังทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมดังกล่าวต่อไปภายใต้แบรนด์ “ดุสิตธานี” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 3 ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักของธุรกิจการศึกษาและธุรกิจอาหาร เนื่องจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารที่ได้รับอนุญาติให้เปิดบริการตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงพฤติกรรมรับประทานอาหารที่บ้าน ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของทั้งสองธุรกิจในเร็วๆ นี้ หลังจากการเปิดประเทศ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าธุรกิจโรงแรมจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่บริษัทฯ จะยังคงเกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มดุสิตธานีได้ดำเนินการนโยบายทางด้านการเงินอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด การลดสัดส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายคงที่ รวมถึงปรับแผนการลงทุนโดยชะลอการลงทุนใหม่ๆ ออกไป และการลดงบลงทุน (CAPEX)

รวมทั้งยังได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมีแผนรับมือทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น การหารายได้เพิ่มเติมจากรายได้ที่ไม่ใช่ห้องพัก (Non-Room Revenue) การเร่งพัฒนาแหล่งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีธรรมชาติ ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้สัมผัสกับกิจกรรมที่หลากหลาย เรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติควบคู่ไปกับการได้รับบริการที่สะดวกสบายและปลอดภัย  เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง รวมถึงการปรับวิถีการให้บริการอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มดุสิตธานี หรือ Dusit Graciousness โดยให้ความสำคัญกับ 4 แกนหลัก คือ บริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Service)  บริการที่ตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ (Well-being)   บริการที่เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนและคนรอบข้าง (Locality) และบริการที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (Sustainability) เพื่อรองรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะทำให้กลุ่มดุสิตธานีสามารถสร้างการเติบโตไปกับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่จะเป็นเทรนด์หลักในอนาคต

“แม้เราจะเชื่อว่า การท่องเที่ยวได้ผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว และสถานการณ์น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ยากที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบในระยะต่อไป ดังนั้น สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักของเราในขณะนี้ นอกจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เราจะเดินหน้าอย่างระมัดระวัง รวมถึงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นางศุภจีกล่าว