แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะทำให้ตลาด ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่ใช่กับทุกแพลตฟอร์ม เนื่องจากการมาของผู้เล่น ‘หน้าใหม่’ แถมเป็น ‘ขาใหญ่ทุนหนา’ จนกลายเป็นตลาดที่แข่งขันสูง ผู้เล่นในระดับภูมิภาคอาจจะไม่มีกำลังต่อสู้มากพอที่จะผลิตคอนเทนต์มาดึงผู้ใช้ ดังนั้น มาย้อนดูกันว่าตลอด 2 ปีมีใครหายไป และใครที่ยังอยู่บ้าง
HOOQ
สำหรับ ‘HOOQ’ (ฮุค) เกิดจากการก่อตั้งโดย Singtel จากสิงคโปร์ ร่วมด้วย Sony Pictures และ Warner Bros. นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับ Hotstar ของ Disney และ Grab กับ VideoMax ของอินโดนีเซีย โดยได้เริ่มดำเนินกิจการในปี 2015
โดย HOOQ ให้บริการความบันเทิงหลายรูปแบบ มีทั้งหนัง และซีรีส์จากฮอลลีวูด รวมถึงรายการทิ้งถิ่นเพื่อหวังดึงดูดลูกค้าท้องถิ่น นอกจากนั้นก็ยังมีการผลิตเนื้อหาของตัวเองด้วย ซึ่งในช่วงนั้น Netflix เจ้าตลาดในฝั่งตะวันตกยังไม่ได้บุกตลาดเอเชียมากนัก จึงเป็นโอกาสของ HOOQ ที่จะทำตลาด และขายฐานลูกค้า ทำให้ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาสามารถหารายได้ถึง 80 ล้านเหรียญฯ
อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ของ HOOQ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากก็ทำให้ HOOQ ขาดทุนมาตลอด โดยคาดว่าในปี 2019 ขาดทุนสะสมสูงถึง 220 ล้านเหรียญฯ ทำให้ในเดือนเมษายน 2563 HOOQ ก็ได้ประกาศผ่าน Facebook Official ว่าจะปิดให้บริการในวันที่ 30 เมษายน 2020 ปิดตำนานแพลตฟอร์มที่ให้บริการมาตลอด 5 ปี
iflix
เป็นแพลตฟอร์มจากสตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 348 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถขยายบริการในกว่า 24 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีการขยายบริการไปในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ใช้กลับมีไม่ถึง 25 ล้านราย
จนมีข่าวว่าในปี 2018 iflix (ไอฟลิกซ์) มีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 12.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ iFlix ต้องการระดมทุนและเตรียม IPO จนมาช่วงต้นปี 2020 ได้มีข่าวว่าบริษัทที่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ลดพนักงานประมาณ 50 คนออก ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลพวงมาจากปัญหาทางการเงินที่กระท่อนกระเเท่นมากว่า 2 ปี
ในที่สุด iflix ก็ได้โดนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนอย่าง Tencent ซื้อกิจการไป พร้อมให้เหตุผลว่าเพื่อขยายการเข้าถึง WeTV แพลตฟอร์มสตรีมของตัวเองในภูมิภาค อีกทั้ง Tencent จะได้รับเนื้อหาเทคโนโลยีและทรัพยากรของ iFlix และขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่สำคัญของการเติบโต
LINE TV
รายล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ LINE TV (ไลน์ทีวี) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก LINE แพลตฟอร์มแชทอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเปิดตัวให้บริการตั้งแต่ปี 2014 โดยเปิดให้ผู้ใช้ดูฟรี ไม่มีค่าสมาชิก ในช่วงปี 2020 LINE TV มียอดรับชมรวม 1 แสนล้านนาที มีผู้บริโภคกว่า 40 ล้านรายที่เข้าถึงแพลตฟอร์ม
โดยจุดเด่นของ LINE TV อยู่ที่คอนเทนต์ไทย โดยเฉพาะละครรีรัน และซีรีส์วาย ที่มีกว่า 40 เรื่อง อาทิ เพราะเราคู่กัน, Why R U The Series และ En of Love นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนและอนิเมะกว่า 100 เรื่อง
อีกจุดแตกต่างของ LINE TV ในการหารายได้นั้นจะแตกต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะเก็บค่าสมาชิก (subscription) หรือทั้ง ดูฟรีและสมัครเป็น VIP แต่รายได้ของ LINE TV มาจาก ค่าโฆษณา เป็นหลัก ดังนั้น ผู้ชมจะได้รับชมคอนเทนต์ฟรี แต่ต้องดูโฆษณาจนจบ และไม่สามารถกดข้ามได้เลย
แม้ปี 2020 LINE TV จะถือเป็นปีทองที่มีการเติบโต แต่ล่าสุด LINE TV ก็ได้ประกาศผ่านเพจ Official ว่าจะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้เท่านั้น โดยอธิบายเพียงว่า ต้องปิดบริการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การดำเนินการทางธุรกิจของ LINE ประเทศไทย
มีหลายคนมองว่า เนื่องจาก LINE TV ต้องซื้อคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ และราคาของคอนเทนต์ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ LINE TV มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่สูงมากขึ้นจากการมาของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ
คู่แข่งระดับโลก
หากพูดถึงผู้เล่นระดับโลกที่อยู่ในไทย แน่นอนก็มี Netflix (เน็ตฟลิกซ์) ที่ยังคงรุกตลาดไทยต่อเนื่อง มีการออกออริจินอลคอนเทนต์ของไทยอย่างน้อยปีละ 2-3 เรื่อง และอีกค่ายที่เพิ่งมาปีนี้ก็คือ Disney+ Hotstar (ดีสนีย์พลัส ฮอทสตาร์) ที่มีแฟรนไชส์คอนเทนต์สุดแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น Marvel, Star Wars, Pixar ฯลฯ และที่สำคัญคือ คอนเทนต์ส่วนใหญ่มี พากย์ไทย อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี HBO Go แพลตฟอร์มจาก WarnerMedia โดยภาพยนตร์และซีรีส์เด่น ๆ ก็คือ DC Comics อย่าง Justice League หรือซีรีส์ชื่อดังอย่าง Games of Thrones หรือ Westworld ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย แม้จะยังไม่เห็นการทำตลาดอย่างจริงจัง แต่ก็ถือว่าเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชอบดูหนังดูซีรีส์
ทั้งนี้ 3 แพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการแบบ subscription หรือสมัครสมาชิกรายเดือน ไม่มีดูฟรี
คู่แข่งจากเอเชีย
ด้านแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์จากเอเชียเป็นหลักจะมี 3 แพลตฟอร์ม โดย 2 รายมาจากจีน ได้แก่ WeTv (วีทีวี) ที่มีบริษัทแม่อย่าง Tencent โดยจะเน้นที่ซีรีส์จีนเป็นหลัก ต่อมา Iqiyi (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ส่วนอีกรายคือ Viu (วิว) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากฮ่องกง โดยมีจุดแข็งที่ซีรีส์เกาหลี ปัจจุบันขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของภูมิภาค เป็นรองแค่ Disney+
โดยทั้ง 3 แพลตฟอร์มนอกจากจะเน้นคอนเทนต์เอเชียเหมือนกันแล้ว โมเดลรายได้ก็เหมือนกันคือ สามารถดูฟรีมีโฆษณาและสมัครเป็น VIP
คู่แข่งโอเปอเรเตอร์
สำหรับโอเปอเรเตอร์ของไทยมีอยู่ 2 ค่ายที่โดดเข้ามาทำแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง โดย เอไอเอส (AIS) ก็มี (เอไอเอส เพลย์) ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ นอกจากนี้ เอไอเอสยังเป็นพันธมิตรกับ Disney+ Hotstar อีกด้วย
เช่นเดียวกับ True ID (ทรู ไอดี) เป็นแพลตฟอร์มจาก ทรู ที่สามารถดูได้ไม่จำกัด แต่จะมีจุดเด่นที่คอนเทนต์กีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ นอกจากนี้ ยังมีระบบ เช่าหนังใหม่ อีกด้วย
คู่แข่งสัญชาติไทย
สำหรับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของไทยมีอยู่ 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Mono Max (โมโน แม็กซ์) และ Doonee (ดูนี่) โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะมีคอนเทนต์ที่โดดเด่นคล้าย ๆ กัน อาทิ ภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย
คู่แข่งการ์ตูน
ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์การ์ตูนในไทยกำลังมาแรงมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกระแสของ ดาบพิฆาตอสูร แม้ว่าแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะมีคอนเทนต์การ์ตูนให้ชม แต่ก็มีแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูนโดยเฉพาะเช่นกัน ได้แก่ Bilibil (บิลิบิลิ), Flixer (ฟลิกเซอร์) และ POPS (พ็อพส์)
จะเห็นว่าแค่ช่วงเวลาไม่กี่ปีตลาดสตรีมมิ่งก็มีผู้เล่นจำนวนมากตบเท้ามาให้บริการ และแต่ละแพลตฟอร์มก็มี ทุนหนากันทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่หลายแพลตฟอร์มจะแบกต้นทุนไม่ไหว และสุดท้ายก็ถอยทัพกลับ ก่อนที่จะเจ็บตัวไปมากกว่านี้ จากนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน และจะมีใครกล้าลงมาเล่นในตลาดนี้อีกหรือไม่