สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยประจำเดือนธันวาคม 2564 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความสุขเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 จะยังคงอยู่ในปัจจุบันแต่คนไทยก็ปรับตัวและมุ่งหวังการสร้างความสุขในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือบรรยากาศหลังจากประกาศเปิดประเทศ สถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง คนไทยมีแนวโน้มจับจ่ายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 และวางแผนในการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า
“คนไทยส่วนใหญ่มีความหวังมากขึ้น ถึงแม้จะยังมีความกังวลกับสถานการณ์และการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพลังใจที่คนไทยทั้งประเทศกำลังเรียกคืนความสุขกลับมานั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงพลังแห่งการใช้จ่าย ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก หลังจากประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 บรรยากาศต่างๆ และธุรกิจการท่องเที่ยวก็เป็นไปอย่างคึกคักเพื่อรองรับเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง โดยผลสำรวจพบว่าคนไทยมีความสุขมากขึ้น 9% และกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิงยังคงพร้อมใจช้อปปิ้งรับความสุขซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 5% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา”
โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ข้อ ได้แก่
- คนไทยเตรียมวางแผน แบรนด์ควรสร้างธีมเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลแห่งความสุข
ถือเป็นช่วงแห่งการสร้างสุขที่แท้จริง ซึ่งทางทีมวิจัยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ เริ่มมีความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในส่วนของแบรนด์ต่างๆ ก็พากันตื่นตัวและอาศัยบรรยากาศในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองนี้กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมามอบรางวัลให้แก่ตัวเองด้วยเช่นกัน ถือเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะทำให้ตัวของผู้บริโภคกล้าตัดสินใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะกับสิ่งที่พวกเขาไม่ค่อยได้ซื้อในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติก่อนหน้านี้ และถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีนับจากนี้หากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไม่กลับมารุนแรงอีกครั้ง
- แรงกระตุ้นด้าน ‘อารมณ์’ ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายแบบทันที
ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะยังมีความกังวลกับสถานการณ์ต่างๆ ของสังคม แต่ความต้องการความสุขของคนไทยก็ยังมีความสำคัญ จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถือเป็นแรงกระตุ้นอารมณ์ ส่งผลไปสู่การจับจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยวภายในประเทศ โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายแบบปัจจุบันทันด่วนได้เป็นอย่างดี ธุรกิจท้องถิ่นต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง นักการตลาดต่างรีบส่งกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ไปสู่สินค้าชุมชนได้มากขึ้น โดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและการรับรู้ของแบรนด์ในชุมชนนั้นๆ เพื่อให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยถือเป็นกิจกรรมสร้างสุขที่ยั่งยืนจากสังคมสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
ทางด้าน ณัฐนิกา ตันวงค์ประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากผลวิจัยในครั้งนี้ พบว่า กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงมีความสุขเพิ่มสูงขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ หลายโรงเรียนต่างๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงโรงเรียนในต่างจังหวัดเริ่มกลับมาเปิดทำการเรียนการสอน หลังจากที่เรียนออนไลน์กันมานาน
หากแบ่งสัดส่วนตามภูมิภาคพบว่า
- ภาคกลาง มีความหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จึงมีความกล้าที่จะใช้จ่ายกับของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สินค้าแต่งบ้าน และอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ
- ภาคตะวันออก มีความหวังว่าการเงินจะฟื้นฟูและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างเช่น อุปกรณ์ครื่องเสียง การออกไปทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัว และรวมไปถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีผลคะแนนเท่ากันอยู่ที่ 61 คะแนน ส่วนภูมิภาคที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงสุดเท่ากันคือ
- ภาคอีสานและภาคใต้ ที่เตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขเพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ตัวเอง
หากจำแนกเป็นช่วงอายุ พบว่าอายุ 40-49 ปี โดยเฉพาะผู้มีรายได้หลักของครอบครัวนั้น มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้นไม่เกี่ยงเรื่องราคาแพง เพื่อความสะดวกสบายและให้รางวัลให้แก่ตัวเอง โดยครั้งนี้ทีมวิจัยได้แบ่งสัดส่วนของ 5 กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายมากที่สุด ดังนี้
- อาหารและเครื่องดื่ม 18%
- โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11%
- ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 10%
- การท่องเที่ยวภายในประเทศ 8%
- เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 7%
ด้าน อารยะ เตชะไชยวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวเสริมว่า
“จากการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนธันวาคม 2564 เราพบว่ามีประเด็นที่น่าจับตามองในบทวิเคราะห์นี้ คือ ความสนใจของคนส่วนใหญ่หนีไม่พ้นประเด็นทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดของผู้บริโภคที่เป็นไปในทิศทางที่มีความหวังมากยิ่งขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน”
ประเด็นข่าวสารบ้านเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 ข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 27% ลดลง 21 % จากผลวิจัยครั้งที่ผ่านมา
อันดับที่ 2 ข่าวสถานการณ์น้ำท่วม 15%
อันดับที่ 3 ข่าวการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9%
แสดงให้เห็นว่าประชาชนสนใจประเด็นข่าวที่มีความหลากหลายมากขึ้นจากครั้งที่ผ่านมา ส่วนอันดับที่ 4 และ 5 ยังคงเป็นข่าวสถานการณ์การเมืองและเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ในอันดับที่ 6 ถึง 10 ตกมาที่ประเด็นข่าวบันเทิง อย่างข่าวของ ลิซ่า แบล็กพิงก์ ข่าวสารในวงการกีฬาฟุตบอล ไปจนถึงข่าวการลงทุนบิตคอยน์ที่มาแรง ซึ่งต่างเป็นประเด็นข่าวที่ช่วยสร้างความสุขในชีวิตได้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการรอคอยอย่างมีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะต้องดียิ่งขึ้นหลังการล็อกดาวน์อันยาวนาน
จากผลสำรวจล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้ ทางสถาบันวิจัยฯ ได้ทำการสำรวจทางออนไลน์ ด้วยแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน แบ่งกลุ่มอายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งผลสำรวจนี้เป็นความร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กับบริษัทในเครือ โดยครั้งนี้เป็นผลวิจัยในครั้งที่ 6 ที่สถาบันวิจัยฯ ได้ทำงานตลอดทั้งปี ทางสถาบันจะนำผลสำรวจทั้ง 6 ครั้งนี้ สรุปผลงานวิจัยมาเผยแพร่และเป็นแนวทางศึกษาแนวโน้มทางด้านพฤติกรรมของการบริโภคคนไทยในอนาคตต่อไป