โอกาสธุรกิจอาหาร ก้าวให้ทันลูกค้ายุค ‘NEXT NORMAL’

เมื่อโลกยุคใหม่ที่ต้อง ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ธุรกิจอาหารเองก็อยู่ในห้วงเวลาเเห่งการเปลี่ยนเเปลง  และรับมือกับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน แล้วธุรกิจก็ต้องปรับให้ทันท่วงที วิกฤตครั้งนี้จึงมีทั้งโอกาสเเละความท้าทาย

การรับมือธุรกิจอาหารจะเป็นอย่างไร การปรับตัวเเละก้าวทันด้วยเทคโนโลยี กลยุทธ์สร้างความเเตกต่างเพื่อเป็นตัวท็อปในตลาด กับมุมมองของ 3 กูรูในงาน ‘NEXT NORMAL ก้าวต่อไปธุรกิจอาหาร’ โดยฟาร์มเฮ้าส์

ใครเก่งก็ไปต่อได้เร็ว เเต่ถ้าใครขยับไม่ทันก็ต้องจม

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงมุมมอง Next Digital Economy เศรษฐกิจยุคดิจิทัลกับการเอาตัวรอดของธุรกิจอาหารว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนเเปลงทุกวันทุกเวลา ทุกคนไม่ว่าอาชีพใด ก็ต้อง ‘อัปเดต’ ตัวเองอยู่เสมอ

สำหรับธุรกิจอาหารนั้น ต้องเจอกับคลื่นสึนามีลูกเเรกทางเทคโนโลยี เเล้วมาเจอสินามึอีกลูกคือ ‘โควิด-19’ ทื่ใครเก่งก็ไปต่อได้เร็ว เเต่ถ้าใครขยับไม่ทันก็ต้องจมลง

ขณะที่โรคระบาด กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนเเปลง ระหว่างนั้นก็ทำให้รู้ว่า ‘ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส’ เป็นช่วงเวลาของเหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต เมื่อความก้าวหน้าของเเพลตฟอร์มได้เข้ามาพลิกธุรกิจอาหาร

โดยในช่วงวิกฤต คนไทยถือว่าปรับตัวรับเทคโนโลยีได้ค่อนข้างเร็ว ดูจากอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี่ การเรียนเเละทำงานออนไลน์ รวมไปถึงการเข้าถึงเเพลตฟอร์มดิจิทัลในโครงการคนละครึ่ง ไทยชนะ เเละเเอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นต้น

เมื่อพูดถึงโอกาสเเละความท้าทาย ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ง่ายๆ เเละธุรกิจต่างๆ ในไทยยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่ากลับมาได้เท่าระดับก่อนโควิด เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวอยู่มาก บวกกับปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ลูกค้าเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยน นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาในเร็ววัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อย่างจีน ข้าราชการยังพอมีกำลังซื้อ ลูกจ้างทั่วไปต้องประหยัดกันมากขึ้น

ธุรกิจยุคนี้ “ต้องวิ่งไปหาลูกค้า มากกว่าให้ลูกค้ามาหาเรา” เชื่อมธุรกิจผ่านเเพลตฟอร์ม ผู้บริโภคเชื่อในฟีดเเบ็ก-รีวิวคุณภาพอาหาร ทำให้เกิดโอกาสใหม่ที่ไม่ต้องเช่าที่ราคาเเพงในกลางเมือง เเต่ขยับมาทำคลาวด์คิทเช่นเเทน หรือเเตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

“โลกเปลี่ยนจาก Brand Age ไปสู่ Product Age การทำโฆษณาเพื่อสร้างเเบรนด์ จะมีความสำคัญน้อยลง เเต่ลูกค้าจะเชื่อในการบอกต่อ การรีวิว การสนทนากันในกลุ่มเพื่อนทั้งต่อหน้าเเละโซเชียลมีเดีย ดังนั้นคุณภาพเเละความไว้วางใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

โดย ดร.ชัชชาติ เเนะนำถึงการรับมือของธุรกิจอาหาร ดังนี้

◾เชื่อมั่นว่าทุกวิกฤตมีโอกาส

◾กำหนด ‘กลยุทธ์’ ให้ชัดเจน ทั้งเรื่องราคา ความเเตกต่างเเละกลุ่มเป้าหมาย หาตลาดที่ตัวเองครองตลาดให้ได้ ไม่ว่าจะเล็กระดับหมู่บ้าน หรือใหญ่ถึงระดับจังหวัด ประเทศ

◾ทำสินค้าเเละบริการที่มี ‘คุณภาพ’ เพราะ Product สำคัญกว่า Brand

◾สร้างความไว้วางใจ (Trust) ในสินค้าเเละบริการ

◾ในสถานการณ์ไม่เเน่นอน ธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้เสมอ

◾พยายามสร้างสินค้าเเละการขายใหม่ที่มีการเเข่งขันน้อยที่สุด

‘Next Step 40 ปี ฟาร์มเฮ้าส์’

ด้านผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร กับมุมมองจากแบรนด์ขนมปังอันดับ 1 ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานอย่าง ‘ฟาร์มเฮ้าส์’

อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ กล่าวถึง ‘Next Step 40 ปี ฟาร์มเฮ้าส์’ ฝ่าวิกฤตโควิดด้วย Automation Technology ว่า เเม้จะเป็นเเบรนด์เก่าเเก่ที่ติดตลาดเเละได้รับความนิยมอยู่เเล้ว เเต่ก็ต้องปรับตัวเเละรับมือการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation อยู่เสมอ

ยิ่งในช่วงโควิด-19 เป็นโอกาสที่จะได้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในธุรกิจอาหารมากขึ้นเเละเร็วยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารจัดการ กระบวนการผลิต การขนส่งและการบริการ

“หัวใจของธุรกิจอาหารคือ ความสะอาดเเละปลอดภัย ในช่วงวิกฤตเราต้องคิดรับมืออย่างรวดเร็ว เช่นการกระจายฉีดวัคซีนในบริษัทให้ทั่วถึง เน้นควบคุมการผลิตด้วยระบบ Automation เเละมีเเผนสำรองอยู่เสมอ”

การมีซัพลายเออร์เเละคู่ค้าที่ดี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจของฟาร์มเฮ้าส์เติบโตมาได้หลายทศวรรษ การมี ‘สายส่ง’ อยู่ทั่วประเทศทำให้เข้าถึงคนไทยได้ง่าย โดยในช่วงโควิด ผู้คนอยู่บ้านเเละหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทางเเบรนด์ก็มี ‘โปรโมชันส่งฟรี’ เมื่อซื้อสินค้าเพียง 150 บาทขึ้นไป เเละโปรโมชันเเจกเเถมต่างๆ พร้อมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปรับให้เข้ากับเข้าไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น เช่น ขนมปังบัตเตอร์สก็อต ฯลฯ

โดยทุกกระบวนการจะต้องมีตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานผ่านอย. ผ่านมาตรฐานระดับโลก เเละทดสอบรสชาติจากผู้เชี่ยวชาญ

“ฟาร์มเฮ้าส์ มีการปรับตัวอยู่เรื่อยๆ ทั้งการผลิต การบริการเเละพัฒนาบุคคลากร อัพสกิลเเละรีสกิล พนักงานรุ่นเก่าที่อยู่กับเรามาหลายสิบปีเเละพนักงานรุ่นใหม่ ทำทุกอย่างให้ตรวจสอบได้ จะได้เเก้ไขปัญหาได้ง่าย”

สำหรับนวัตกรรมใหม่ที่ ‘ฟาร์มเฮ้าส์’ จะมีมานำเสนอในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก ก็คือการใช้ ‘Brand Ambassador’ ใหม่ เป็น AI ‘คนเสมือนจริง’ ที่จะมาอยู่ในทุกๆ เเพลตฟอร์มของฟาร์มเฮ้าส์ คาดว่าจะได้เห็นกันในช่วงต้นปีหน้านี้

“Brand Ambassador ใหม่ของเราจะสื่อถึงลูกค้า คู่ค้า เป็นความรู้สึกที่ถ่ายทอดมาจากทีมงานจริงๆ สร้างขึ้นมาให้ตรงคอนเซปต์ของความเป็นฟาร์มเฮ้าส์ ใส่ความเป็นเเบรนด์เเละสิ่งที่เราอยากนำเสนอได้เต็มที่”

ต้องการของลูกค้าอย่างเเท้จริง

ด้าน ‘ฟูจิ เซ็นเซ’ นักธุรกิจและนักวางแผนการลงทุนที่มีกว่า 10 กิจการในมือและอาจารย์สอนทำธุรกิจชื่อดัง เปิดมุมมองธุรกิจยุคใหม่ของคนตัวเล็ก ‘Next Generation’ ว่า ขั้นเเรกต้องทำความเข้าใจกับนิยามของธุรกิจก่อนว่า เเท้จริงเเล้ว ‘ธุรกิจคือการเเก้ปัญหา’ ดังนั้นเราต้องคิดถึงปัญหาอะไรก็ตามที่คนอื่นยังไม่เเก้ ต้องหาให้เจอเเล้วเสิร์ฟให้ลูกค้า

สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี สร้างความเเตกต่าง ดีต่อใจลูกค้า ด้วย ‘ศาสตร์ที่ทำให้คนอยาก’ เพราะถ้าเราสามารถทำให้คนมีความอยากได้ ดีมานด์ความต้องการของผู้บริโภคก็จะตามมาเอง เเม้จะเป็นสินค้าธรรมดาๆ ก็ตาม

“ถ้าเลือกจะทำตามเทรนด์ จะเป็นที่หนึ่งได้ต้องเก่งกว่า เร็วกว่า ดังนั้นเราจะทำตามเทรนด์ได้ก็ต่อเมื่อเราเก่งเเละมีทุน หรือมีของดีกว่า เเต่ถ้าเราเป็นคนตัวเล็ก สิ่งที่ต้องทำคือคิดย้อนศร”

ยุคนี้การมี ‘ส.จ.ด.ต.’ หรือ ‘เสน่ห์ จุดเด่น จุดต่าง’ นั้นสำคัญมาก ซึ่งการประกาศว่าเราเป็น ‘ที่หนึ่ง’ ในเรื่องใดสักเรื่องก่อน จะสร้างโอกาสในการกระจายข่าวในในโซเชียลได้เร็วกว่า เเล้วผู้คนจะจดจำได้ เช่น อาจจะหาจุดเด่นเล็กๆ ของร้านอย่าง มีเมนูมากที่สุดในหมู่บ้านก็ได้

นอกจากนี้ การจับมือกับพาร์ทเนอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราไม่ได้ถนัดไปทุกอย่าง เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ได้ใช้ความได้เปรียบของเเบรนด์ระหว่างกัน ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงการได้เรียนรู้สูตรลับของอีกฝ่ายด้วย

โดยฟูจิ เซ็นเซ ฝากเเนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการรายย่อย ไว้เป็นการบ้านเพื่อต่อยอดธุรกิจ ดังนี้

ต้องฝึกเจรจาต่อรอง ฝึกบริหารการเงิน ฝึกเทคนิคการขาย เเก้ปัญหาของลูกค้า สะกดใจคนซื้อให้ได้ หาวิธีเพิ่มลูกค้าในช่องทางต่างๆ ฝึกหา ‘ส.จ.ด.ต.’ หาจุดอ่อนในวงการของคุณ เเละรู้จักของต้องการของลูกค้าอย่างเเท้จริง

การทำธุรกิจที่คนตัวเล็กสามารถเอาชนะคนตัวใหญ่ได้ คือ เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ สร้างความแตกต่าง เปลี่ยนสิ่งที่เกลียดให้เป็นสิ่งที่ชอบให้ได้

ทั้งหมดนี้ก็คือ ‘NEXT NORMAL ก้าวต่อไปธุรกิจอาหาร’