เข้าสู่ปีที่ 10 ของเวทีสัมมนาจากเหล่า PRISM Expert กับการวิเคราะห์ธุรกิจพลังงานประจำปี และมุมมองต่ออนาคตของธุรกิจพลังงานจะมีปัจจัยสำคัญใดส่งผลกระทบ โดยเวทีปีนี้มาในธีมด้าน “สิ่งแวดล้อม” คาดการณ์ความร่วมมือของทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ถนนสายเดียวกันคือการแก้ไขวิกฤต “โลกร้อน” แต่ความร่วมมือเหล่านั้นจะต้องเร่งความเร็วให้ทันเวลาก่อนที่จะสาย ความเคลื่อนไหวในวงการน้ำมันและพลังงานจะเป็นอย่างไร ติดตามสรุปสุดเข้มข้นได้ที่นี่
เวทีสัมมนาจาก PRISM Expert ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ภายใต้ชื่องาน The 10th Annual Petroleum Outlook Forum: Global Climate Action for A Better World ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า โดยได้รับเกียรติจาก “บัณฑิต ธรรมประจำจิต” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวเปิดงานถึงสถานการณ์น้ำมันที่กำลังฟื้นตัว และหัวข้อสนทนาในวันนี้ซึ่งจะสื่อให้เห็นถึงความเข้มแข็งเหนียวแน่นของกลุ่มพลังงานที่จะสร้างความมั่นคงและมุ่งสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ดีมานด์น้ำมันฟื้น ซัพพลายคลายความตึงตัวต้นปี 2022
เริ่มต้นที่การคาดการณ์ดีมานด์-ซัพพลายน้ำมัน “ดาวรุ่ง ตีรวงศ์กุศล” PRISM Expert จาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์แนวโน้มดีมานด์การใช้น้ำมันปี 2022 น่าจะเติบโตเล็กน้อย +3% MMBD (YoY)
เหตุปัจจัยมาจากสมมติฐานว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะเลือก “ใช้ชีวิตอยู่กับ COVID-19” วางนโยบายเปิดประเทศ ปลดล็อกดาวน์ มีการเดินทางระหว่างกัน ซึ่งเป็นผลดีกับการใช้น้ำมัน
ประกอบกับช่วงฤดูหนาวนี้คาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะอากาศแปรปรวน ทำให้พื้นที่เขตหนาวหนาวจัดและหนาวนานกว่าปกติ ส่งผลให้ดีมานด์การใช้น้ำมันเพื่อเป็นพลังงานทำความร้อนพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยลบที่ยังฉุดรั้งให้ดีมานด์น้ำมันไม่ทะยานมากกว่านี้คือ ประเทศจีน ผู้ใช้น้ำมันอันดับ 2 ของโลก เป็นไปได้ว่าจะเลือกปิดประเทศไปตลอดปี 2022 ทำให้ขาดดีมานด์จากการเดินทางเข้า-ออกประเทศจีนไป
ด้านซัพพลายน้ำมันนั้น “ชณัฐฐา ฤกษ์ชัยรัศมี” PRISM Expert จาก บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเป็นขาขึ้นไม่ได้เกิดจากดีมานด์ที่ฟื้นตัวเท่านั้น แต่เกิดจากซัพพลายที่ลดลงด้วย
สาเหตุซัพพลายที่ลดลงมาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่ กลุ่มโอเปกพลัส (ครองส่วนแบ่งตลาด 50%) สามารถเจรจากันสำเร็จ ตกลงสร้างวินัยลดการผลิตซัพพลายน้ำมัน หยุดการทำสงครามราคาระหว่างกัน
รวมถึงเมื่อปี 2020 หลังเกิดวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำทำให้ผู้ผลิตหลายรายในโลกล้มละลายและเลิกกิจการ อีกทั้งผู้ผลิตที่ยังยืนอยู่ได้ก็เลือกที่จะชะลอการลงทุนเพิ่ม เพราะโลกกำลังเคลื่อนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้แหล่งผลิตลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ อีกหนึ่งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (ครองส่วนแบ่งตลาด 12%) จะเริ่มเพิ่มการผลิตน้ำมันในปีหน้า และยังเป็น ผู้นำการปล่อยน้ำมันสำรอง (SPR) พร้อมกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตาม เพื่อจะลดราคาน้ำมันลง ตอบโต้การลดการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส
ภาพรวมจึงมองว่า ช่วงไตรมาส 1/2022 น่าจะได้เห็นการคลายความตึงตัวของซัพพลายน้ำมัน และซัพพลายน่าจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ราวไตรมาส 3/2022
สรุปราคาน้ำมันคาดการณ์ปี 2022 โดยทีม PRISM Expert คาดว่าจะอยู่ในกรอบราคา 67-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
“โลกร้อน” กับความร่วมมือจาก COP26
มาต่อกันที่ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อวงการพลังงานในอนาคต นั่นคือประเด็น “โลกร้อน” PRISM Expert “วิภาวี สายสุนทร” จาก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงพื้นฐานสถานการณ์ก่อนว่า IPCC ประเมินความร้อนของโลกปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 1.2 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ปี 1940 และยังกำหนดเส้นตายด้วยว่า หากโลกของเราร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส นั่นจะเป็นจุดที่ไม่มีทางหวนกลับของมนุษยชาติ สภาพอากาศของโลกจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก
นั่นทำให้การประชุม “COP” ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1995 เพื่อระดมความเห็นและความร่วมมือจากผู้นำประเทศทั่วโลก ร่วมกันหยุดภาวะโลกร้อน สำหรับการประชุม COP26 ในปีนี้ มีข้อกังวลของหลายฝ่ายเนื่องจากประเทศขนาดใหญ่อย่าง “จีน” และ “รัสเซีย” ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงที่บรรลุผลเป็นที่น่าพอใจใน “Glasgow Climate Pact” เช่น
- 197 ประเทศลงนามยืนยันตามสนธิสัญญาปารีส จะควบคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 5-2.0 องศาเซลเซียส
- 141 ประเทศลงนามลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2030
- 105 ประเทศลงนามหยุดการตัดป่าไม้ภายในปี 2030
แม้จะมีข้อตกลงในทางบวก แต่บางข้อเสนอก็ไม่ได้รับการตอบรับ เช่น การเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนการทำปศุสัตว์เป็นแบบที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมผู้บริโภคให้รับประทานอาหาร Plant-based เป็นต้น
จุดไฮไลต์ที่น่าสนใจคือ “อินเดีย” ซึ่งถือเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนสูงอันดับ 3 ของโลก ได้เรียกร้องให้ที่ประชุมมองในมุมของอินเดียที่มีประชากรจำนวนมากและเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ยังจำเป็นต้องใช้ถ่านหิน และต้องการเงินอุดหนุนจากประเทศร่ำรวย หากต้องการให้อินเดียร่วมมือไปสู่เป้าหมาย “Net-zero” ได้ดีกว่านี้
จากผลของการประชุม COP26 ทำให้ Climate Action Tracker วิเคราะห์ว่า โลกของเราจะร้อนขึ้น 1.8 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ดังนั้น เรายังต้องการเป้าหมายที่ทะเยอทะยานกว่านี้เพื่อกู้วิกฤต
เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน
หัวข้อต่อไปคือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น “อดิพล ตันนิรันดร” PRISM Expert จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แนะนำ 6 เทคโนโลยีที่น่าจับตา ซึ่งจะช่วยพลิกโฉมหน้าปัญหาโลกร้อนได้ ดังนี้
- SAFs หรือ เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากชีวมวลหรือคาร์บอนรีไซเคิลนำมาใช้เป็นพลังงานใหม่
- พลาสติกรีไซเคิล มีความพยายามทั่วโลกเพื่อนำพลาสติกหรือขยะประเภทต่างๆ มารีไซเคิล
- Capturing Carbon เทคโนโลยีแห่งความหวังในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ เช่น ผลิตคอนกรีต เครื่องดื่มอัดลม แพ็กเกจจิ้งเครื่องสำอาง
- พลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลมและโซลาร์จะกลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของโลกภายในปี 2050
- ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มออกจำหน่ายแล้ว และเทคโนโลยีจะทำให้แบตเตอรีมีราคาต่ำลง เข้าถึงง่ายขึ้น และมีสถานีชาร์จมากขึ้น
ไฮโดรเจน คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มเป็น 530 ล้านตันต่อปีในปี 2050 เพราะกลุ่มรถบรรทุกขนส่งและรถบัสสนใจใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงาน
เทคโนโลยีเหล่านี้จะพัฒนารุดหน้าได้เร็วต้องมีแหล่งเงินทุน โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีในปัจจุบันเริ่มตอบโจทย์เหล่านี้โดยเฉพาะ ผ่านการออกพันธบัตร/หุ้นกู้ที่เจาะจงด้านความยั่งยืน เช่น Green Bond, Sustainability Bond, Social Bond เป็นนิมิตหมายที่ดีต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
ถนนทุกสายมุ่งสู่ Net-zero
มีเป้าหมายร่วมกันและเทคโนโลยีแล้ว แต่ละประเทศออกนโยบายอะไรที่สอดคล้องแล้วบ้าง? “กมลพันธุ์ สุขเจริญ” PRISM Expert จาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สรุปบนเวทีดังนี้
“จีน” – ตั้งเป้าลดการผลิตถ่านหิน 13% และเพิ่มการผลิตฟาร์มโซลาร์และกังหันลม 125% ภายในปี 2030 แต่กลายเป็นปัญหาทำให้เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ ต้องจับตาดูว่าจีนจะจัดการอย่างไรต่อไป
“สหรัฐฯ” – เป็นยักษ์ที่หลับไประยะหนึ่งในด้านพลังงาน แต่กลับมาตื่นอีกครั้งในยุค “โจ ไบเดน” ที่ต้องการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยต้องแลกมาด้วยตำแหน่งงานที่หายไป 2 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมถ่านหิน
“ยุโรป” – ต้นแบบการพัฒนาพลังงานทดแทน แต่ความไม่แน่นอนของการผลิตพลังงานทดแทนทำให้อุปทานต่ำ สวนทางกับอุปสงค์สูง ค่าไฟฟ้าจึงพุ่งสูง ทำให้ยุโรปต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินและน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา
“อินเดีย” – ประกาศ Net-zero Agreement เป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา และถ่านหินเป็นต้นทุนที่ถูกกว่า ทำให้อินเดียต้องการเงินทุนมากกว่านี้หากจะเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด
“ซาอุดิอาระเบีย” – ผู้นำกลุ่มโอเปกพลัส แต่ชาอุฯ ได้วางนโยบาย 2030 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจกลุ่มนอนออยล์ให้มากขึ้น และพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนเพื่อให้การผลิตน้ำมันของประเทศลดการปล่อยมลพิษ
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีแขกรับเชิญพิเศษร่วมบรรยายคือ “ดร.อดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้เห็นวิสัยทัศน์และการลงมือทำของ ExxonMobil เพื่อไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน โดยบริษัทมีการลงทุนกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2000 เพื่อคิดค้นโซลูชันลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 3,000 ล้านเหรียญ ที่จะใช้ไปจนถึงปี 2025
สิ่งที่ ExxonMobil ปฏิบัติไปแล้ว เช่น สนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติแทนที่ถ่านหิน การคิดค้นพลาสติกน้ำหนักเบาเพื่อลดการใช้พลังงานของยานพาหนะ การสร้างโรงงานดักจับคาร์บอนและกักเก็บ (CCS) ซึ่งขยายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอนาคต บริษัทมีเป้าหมายพัฒนาโซลูชันฟิวเซลล์เข้ามาใช้งาน
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางและกลยุทธ์ของ กลุ่ม ปตท. ที่จะต้องรองรับทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตว่า “ปตท. ได้มีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” โดย กลุ่ม ปตท. ได้มุ่งพัฒนาธุรกิจที่สนับสนุนพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็น LNG, Renewable Energy, EV, Energy Storage System, Hydrogen เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ที่ทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพราะกลุ่ม ปตท. เชื่อว่าพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญในการใช้พลังงานในอนาคต โดยหน้าที่หลักของ กลุ่ม ปตท. คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
ทุกบริษัทในกลุ่มฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจที่จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อร่วมผลักดันให้เกิด Low Carbon Society ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ว่าจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในภายในปี ค.ศ. 2050 และ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065”
เห็นได้ว่า ทุกประเทศรวมถึงบริษัทพลังงานกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนเพื่อลด “โลกร้อน” แม้ในทางปฏิบัติยังต้องอาศัยความร่วมมือกันที่มากขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเพื่อให้โลกของเราควบคุมความร้อนไว้ไม่ให้มากไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่เชื่อได้ว่าสิ่งแวดล้อมในวันนี้ของเรากำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีกว่าเมื่อวาน