SMEs มีเฮ! สมาคมผู้ค้าปลีกไทยต่อยอดโครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลนเฟส 2 อนุมัติเงินกู้ แบบง่าย รวดเร็วให้ SMEs ทั่วไทย

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต่อยอดโครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลน หลังจากเฟสแรกที่ได้ทำสำเร็จไปเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา มี SMEs รายย่อยในเครือข่ายของสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยให้ SMEs มีแต้มต่อในการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สมาคมฯเล็งเห็นว่ายังมี SMEs รายย่อยอีกจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพและต่อยอดการทำธุรกิจ ดังนั้น สมาคมฯ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับสมาคมธนาคารไทยธนาคารแห่งประเทศไทย NITMX หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมศูนย์การค้าไทยและสมาคมต่างๆ ในเครือข่ายทั่วประเทศ สร้างแพลตฟอร์ม Digital Supplychain Finance ซึ่งจะช่วยทำให้การพิจารณาสินเชื่อของ SMEs ได้รับอนุมัติได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs และเกษตรกรไทยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็นการดำเนินการเฟส 2 ต่อจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลนในเฟสแรกซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งนี้ การสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องการให้สินเชื่อ Soft Loan ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษอย่างต่อเนื่องถือเป็นส่วนสำคัญ

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ปัญหาที่สำคัญที่สุดและต้องเร่งแก้ไขในตอนนี้คือปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ซึ่งเราทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและรวดเร็วโดยเฉพาะ SMEs รายย่อย เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการการเสริมสภาพคล่องมากที่สุด เข้าถึงแหล่งเงินทุนยากที่สุด มีความเสี่ยงที่จะไปกู้เงินนอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยสูงและยอดวงเงินจำกัด เพราะ SMEs เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นตัวหรือเชิดหัวขึ้นได้เลยหาก SMEs ในภาคการค้าและบริการไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน SMEs ในกลุ่มการค้าและบริการมีบทบาทสำคัญในการจ้างงานสร้างรายได้และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งสามารถที่จะพัฒนาไปสู่ภาคการส่งออกที่จะนำรายได้หลักเข้าสู่ประเทศ จึงมีความสำคัญต่อระบบเศษฐกิจไทยอย่างมหาศาล เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในภาคการค้าและบริการนี้มี SMEs อยู่ในระบบกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็น 45% ของ SMEs ทั้งประเทศ มีการจ้างงานเกือบ 10 ล้านคนและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13 % ของ GDP การบริโภคทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการเติบโตของ SMEs ในภาคการค้าและบริการนี่คือเหตุผลหลักที่ทำไมทุกภาคส่วนถึงต้องให้ความช่วยเหลือกับ SMEs ในภาคการค้าและบริการโดยเร่งด่วน”

โครงการแซนด์บ็อกซ์ซอฟต์โลนเฟส 2 นี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ผู้ซื้อ, ผู้ขาย และสถาบันการเงิน สมาคมฯเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ขายและสถาบันการเงิน เนื่องจากสมาชิกของสมาคมฯถือว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด เช่น กลุ่มซีพี, โฮมโปร, อินเด็กซ์, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์, เซ็นทรัลรีเทล,โลตัส, บิ๊กซี, ดูโฮม, ซี.เจ. เอ็กซ์เพรสกรุ๊ป, ธนพิริยะ, ริมปิงและแสงไทยแพร่ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ซื้อดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าและการจ่ายเงินของผู้ขายที่ได้รับความยินยอมแล้วเข้าไปไว้บน Platform เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้เป็นหลักฐานการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งเป็นข้อมูลที่โปร่งใสครบถ้วนตรวจสอบง่าย ทำให้การอนุมัติสินเชื่อสะดวกและรวดเร็วขึ้นโดยอาศัยเครดิตของผู้ซื้อรายใหญ่

“โครงการในเฟส 2 นี้ถูกคิดขึ้นมาจากหลักการที่ว่า “More Inclusive, More Choices and Better for Everyone” โดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามายกระดับระบบที่มีอยู่ ให้สามารถช่วยเหลือ SMEs รายย่อยให้ได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุนและอำนาจต่อรองให้ SMEs มากขึ้น และทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ในดอกเบี้ยที่ถูกลงสถาบันการเงินเองก็จะได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้เพราะจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้สะดวกและรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำมีความเสี่ยงหนี้เสียน้อยลง และตรวจสอบ ป้องกัน การให้สินเชื่อซับซ้อน (Double Invoicing) ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่ายอย่างแท้จริงและจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาช่วยให้ SMEs ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องแหล่งเงินทุนเพิ่มสภาพคล่อง ขยายการดำเนินธุรกิจและเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SMEs ไทย เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคการค้าและบริการที่จะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม สมาคมฯยังไม่หยุดที่จะหาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในโลกดิจิทัลดิสรัปชั่น ที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสมาคมฯจึงได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำแบบสำรวจแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ SMEs เพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ และเงื่อนไขการขอสินเชื่อที่ตรงตามความต้องการของ SMEs ในอนาคตแห่งโลกดิจิทัลหลัง COVID -19 อีกด้วย ”นายญนน์ กล่าวปิดท้าย