เทรนด์การใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ในโลกการลงทุน นับวันยิ่งเป็นกระแสที่มาแรงไม่หยุด เพราะ AI เข้ามาช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น เปิดโลกแห่งการบริหารเงินผ่านสินทรัพย์คุณภาพดีทั่วโลก สร้างผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก
ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยี AI เข้ามาเติมเต็มโอกาสการลงทุนให้กับคนจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจมากเพียงพอที่จะเริ่มลงทุนด้วยตัวเอง หรือเป็นตัวช่วยสำหรับคนที่ไม่มีเวลาศึกษาสินทรัพย์ต่างๆ ช่วยเลือกและบริหารพอร์ตลงทุนให้ถึงเป้าหมายอย่างที่คุณต้องการ
ปัจจุบันสถาบันการเงินจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์แนะนำการลงทุน (บลน.) และบริษัทประกัน ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI หรือที่เรียกเป็นไทยว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดพอร์ตลงทุน มาเป็นสูตรสำเร็จและปรับพอร์ตอัตโนมัติ ผ่านการออกแบบและพัฒนา ‘อัลกอริทึม’ ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และเลือกสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุด รวมไปถึงจัดการการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตัวระบบเอง
การทำงานของอัลกอริทึมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมนุษย์ ผ่าน ‘สมองคน’ เริ่มต้นจากฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เราเรียกว่า Big Data เมื่ออัลกอริทึมทำงานได้ตามเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ที่ถูกโปรแกรมไว้แล้ว ตัวเทคโนโลยี AI จะประมวลผลออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้าย เรียกการทำงานแบบนี้ว่า ‘สมองกล’
เพราะสมองคนมีความสามารถอย่างจำกัด แต่สมองกลมีความสามารถไม่จำกัด สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเป็นล้านๆ และประมวลผลออกมาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอคติหรืออารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่พัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ คือ สมองกลสามารถเรียนรู้ได้ ที่เรียกว่า Machine Learning
ส่งผลให้เทรนด์บริหารพอร์ตลงทุนด้วยเทคโนโลยี AI เป็น 1 ในเครื่องมือของ WealthTech ที่กำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง
อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจาก Research and Markets ศูนย์รวมงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า ตลาด WealthTech ของโลก จะโตจาก 54.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 มาอยู่ที่ 137.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 คาดว่า จะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 14.1% ในช่วงปี 2564-2571
สะท้อนภาพใหญ่ว่า WealthTech กำลังคืบคลานเข้ามามีอิทธิพลในการบริหารความมั่งคั่ง ต่อให้เป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ หรือเป็นเพียงสตาร์ตอัป ก็ไม่อาจมองข้ามเทคโนโลยีเหล่านี้ที่จะเข้ามาดิสรัปต์โลกการลงทุนได้ตลอดเวลา
สร้างโอกาสทำกำไร ให้เทคโนโลยี AI ช่วยจัดพอร์ตหุ้น
การมีเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการลงทุน สร้างประโยชน์มากมาย จากเดิมบริษัทจัดการลงทุนใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยรวบรวมสินทรัพย์ทางการเงินที่น่าสนใจทั่วโลก เพื่อมานำเสนอหรือจัดพอร์ตลงทุนให้นักลงทุนเพียงเท่านั้น แต่มีข้อจำกัดคือ นักลงทุนมีทางเลือกไม่มากนัก ทั้งๆ ที่โลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงและมีสินทรัพย์ทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาช่วยสร้างความอัจฉริยะให้เทคโนโลยี AI ทำให้บริษัทจัดการลงทุนหันมาพัฒนาเทคโนโลยี AI มากขึ้น เพื่อมาออกแบบหลักการและกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงนักลงทุนมากขึ้น
หากคุณเองตัดสินใจจัดพอร์ตลงทุนและให้เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาท ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจกับหลักการทำงานของ AI และควรมีความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของ AI ด้วย โดยปล่อยให้ระบบโชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ตื่นตกใจ หากบางช่วงบางเวลาพอร์ตลงทุนจะมีผลขาดทุน
ผมขอเล่าถึงกรณีศึกษาของแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ที่เติบโตมาจากการหลักการลงทุนผ่าน AI มาเกือบ 10 ปี เรามีทีมงานพัฒนา AI และอัลกอริทึม เพื่อคัดเลือกหุ้นมาจัดพอร์ตลงทุน โดยยึดหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing – VI) ของ Warren Buffett นักลงทุนชื่อดังก้องโลก ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘Buy a wonderful company at a fair price’ หรือ ‘ลงทุนในธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม’
เพราะภารกิจของ Jitta ในฐานะสตาร์ตอัป WealthTech ต้องการทำให้การลงทุนในหุ้น ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่าย โดยพัฒนา AI และออกแบบอัลกอริทึมมาวิเคราะห์พื้นฐานหุ้นผ่านงบการเงินย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม Jitta ประมวลผลข้อมูลงบการเงินต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านดาต้าเซตต่อวัน จากจำนวนหุ้นมากกว่า 2,000 บริษัท ซัพพอร์ตตลาดหุ้นใน 19 ประเทศ
ถ้าให้คุณมานั่งอ่านงบการเงินย้อนหลังด้วยตัวเอง แค่ศึกษาเพียงบริษัทเดียว และยังต้องวิเคราะห์ว่า บริษัทนี้มีงบการเงินแข็งแกร่งหรือไม่ และราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐานอยู่หรือเปล่า คงดูยุ่งยากและซับซ้อนมาก นี่ต่างหากคือ พลังเทคโนโลยี AI ผ่านแพลตฟอร์ม Jitta
จากนั้น AI จะแปลงตัวเลขในงบการเงินของแต่ละบริษัทออกมาเป็น 2 ค่า เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ Jitta Score การให้คะแนน 0-10 ที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของธุรกิจผ่านงบการเงิน คะแนนยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมและ Jitta Line แสดงถึงมูลค่าหรือราคาหุ้นที่เหมาะสม ถ้าราคาปัจจุบันต่ำกว่าเส้น Jitta Line สะท้อนว่า ราคายัง Undervalued ควรนำมาจัดพอร์ตลงทุน
ผลลัพธ์สุดท้ายของเทคโนโลยี AI และอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม Jitta คือ จัดอันดับ ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม’ ออกมาเป็น Jitta Ranking ให้คุณไปเลือกจัดพอร์ตได้ง่ายๆ นั่นเอง
ปัจจุบันแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta เปิดให้ใช้ได้ทุกฟังก์ชันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะเข้าถึงการวิเคราะห์ที่มีตรงตามหลักการ ประหยัดเวลาศึกษางบการเงินด้วยตัวเอง เลือกหุ้นมาจัดพอร์ตลงทุนได้ง่ายขึ้น และโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีขั้น
แต่การพัฒนา WealthTech ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น Jitta Wealth ในฐานะบลจ. ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อต่อยอดใช้แพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta ที่พัฒนาขึ้นมา มาเป็นการบริหารกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking มีตัวเลือกให้ 5 แผนการลงทุน ได้แก่ หุ้นไทย หุ้นเวียดนาม หุ้นจีน หุ้นสหรัฐฯ และหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ
พอมาเป็นการบริหารกองทุนส่วนบุคคล ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยี AI เท่านั้น ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติ (Automated Investing) เพื่อมาช่วยบริหารจัดการพอร์ตและรักษาวินัยการลงทุน รวมไปถึงรีวิวพอร์ตทุกไตรมาส เพราะ ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม’ เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่มีสินทรัพย์ตัวไหนเป็นขาขึ้นตลอดเวลา
เมื่อเทคโนโลยี 2 แกนหลัก ทำงานพร้อมๆ กัน Jitta Wealth ได้จำลองผลตอบแทน (Back Test) ย้อนหลัง 10 ปีของกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking ทั้ง 5 แผนการลงทุน เฉลี่ยอยู่ที่ +9-24% ต่อปี นับเป็นบทพิสูจน์ของเทคโนโลยี AI และอัลกอริทึมที่ Jitta พัฒนาขึ้นมา และเทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติ ล้วนส่งให้พอร์ตลงทุนมีโอกาสทำกำไรสูงขึ้นและมากกว่าชนะดัชนีตลาดในระยะยาว เฉลี่ยอยู่ที่ +6-14% ต่อปี
ผมมองว่า การบริหารกองทุนส่วนบุคคลในฐานะบลจ. จะมี 2 แกนหลักที่มีความสำคัญพอๆ กัน คือ การใช้เทคโนโลยี AI มาคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี และการพัฒนาเทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติมาช่วยดูแลพอร์ตอย่างมีวินัย ดังนั้นประโยชน์จะตกอยู่ที่ตัวคุณในฐานะนักลงทุน เพราะได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี มีพอร์ตลงทุนสร้างกำไรในระยะยาว และมีค่าธรรมเนียมบริการจัดการต่ำอีกด้วย
พลังเทคโนโลยี AI สู่การเลือก ETF ที่น่าลงทุนที่สุด
สตาร์ตอัป WealthTech ที่บริหารกองทุนส่วนบุคคลผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติ ส่งผลให้ Jitta Wealth สามารถออกแบบกองทุนส่วนบุคคลในสินทรัพย์อื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น อย่างเช่น Global ETF และ Thematic สร้างทางเลือกการลงทุนให้คุณได้มากขึ้น พร้อมกระจายความเสี่ยงได้ทั่วโลกผ่าน ETF (Exchanged Traded Fund)
นโยบาย Global ETF คือ สูตรสำเร็จพอร์ตลงทุน เพิ่ม (Maximize) โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี และลด (Minimize) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ผ่านการคัดเลือก ETF ระดับท็อประดับโลกผ่านตราสารหนี้และหุ้นจัดพอร์ตตามทฤษฎีรางวัลโนเบล Modern Portfolio Theory ผ่าน 2 เงื่อนไข คือ การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification) นโยบายนี้จะใช้เทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 4-8% ต่อปี
นโยบาย Thematic คือ พอร์ตลงทุน ETF หุ้นทั่วโลก เป็นเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตระยะยาว พร้อมใช้เทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติ มี 2 แผนการลงทุน คือ Thematic DIY ที่คุณสามารถจัดพอร์ตเลือกธีมได้เองสูงสุด 5 ธีม ผลตอบแทน Back Test ย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ +12-18% ต่อปี และ Thematic Optimize ที่คุณวางใจให้เทคโนโลยี AI จัดพอร์ตเลือก 4 ธีม ผลตอบแทน Back Test ย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ +25% ต่อปี
ผมได้รับคำถามต่ออีกว่า เทคโนโลยี AI มาเลือกหุ้นผ่านการสแกนงบการเงินพอจะเห็นภาพชัดเจน แต่การเลือก ETF ธีมเมกะเทรนด์ที่น่าลงทุนที่สุด เทคโนโลยี AI จะทำงานอย่างไร เพราะ ETF เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นอีกนับสิบนับร้อยบริษัท แล้วจะออกแบบอัลกอริทึมมาประมวลผลได้อย่างไร
ก่อนอื่น Jitta Wealth จะเลือก ETF มาเป็นตัวแทนธีมเมกะเทรนด์ โดยใช้เกณฑ์มูลค่า AUM (Assets Under Management) ที่สูงสุด ค่าใช้จ่ายรวม (Total Expense Ratio) ต่ำที่สุด และมีราคา ETF ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเลือก ETF ได้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเทคโนโลยี AI โดยทีมงานจะออกแบบและพัฒนาอัลกอริทึมผ่าน 3 องค์ประกอบ อันแรก คือ การเติบโตของบริษัทใน ETF ดูความแข็งแกร่งของงบการเงิน และประเมินแนวโน้มการเติบโตของรายได้ ส่วนนี้เป็นการต่อยอดแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta
อันที่สอง คือ ผลตอบแทนย้อนหลังของ ETF ดูความเคลื่อนไหวของราคาและผลตอบแทนรายไตรมาส และอันที่สาม คือ ความผันผวนของ ETF โดยใช้ค่าสถิติที่ระบุในเอกสารสรุปข้อมูลส่วนสำคัญ (Fact Sheet) เช่น Standard Deviation – SD (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) และค่าความผันผวนต่อปี (Annualised Volatility) เพราะค่าเหล่านี้ สะท้อนความเสี่ยงที่ผลตอบแทนและราคาของ ETF ในอนาคตจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
หลังจากที่เทคโนโลยี AI คัดเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดมาจัดพอร์ต 4 ธีมให้คุณแล้ว จะเป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติมาช่วยรักษาวินัยให้พอร์ตลงทุน ทั้งเปลี่ยนธีมและปรับพอร์ตทุกไตรมาส
นี่คือ กรณีศึกษาจากแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta สู่การบริหารกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ สะท้อนให้เห็นว่า ‘สมองกล’ ของเทคโนโลยี AI มีอิทธิพลมากในการช่วยคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุด คุณจะเห็นว่า อัลกอริทึมจะถูกพัฒนาขึ้นมาตามหลักการที่โปรแกรมเข้าไป โดยปราศจากอารมณ์และอคติ ต่างจากการใช้ ‘สมองคน’ ของมนุษย์
นอกจากนี้ยังทลายข้อจำกัดการลงทุน สร้างโอกาสทำกำไรให้พอร์ตเติบโต ส่วนเทคโนโลยีลงทุนอัตโนมัติจะช่วยปรับพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ขายสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจน้อยลง และซื้อสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตมากกว่าเข้าพอร์ต
ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยจัดพอร์ตลงทุนและบริหารความมั่งคั่ง คุณจะสัมผัสได้ว่า ชีวิตง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ผมคิดว่า ต่อไปการแข่งขันในธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจะรุนแรงมากขึ้น เพราะแต่ละสถาบันการลงทุนจะทุ่มเงินลงทุนด้าน WealthTech มหาศาล เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเงินฝากเงินลงทุนที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนหลายล้านๆ บาท และแน่นอนว่า เทคโนโลยี AI ในโลกการลงทุนจะล้ำมากขึ้นไปอีกในอนาคต