ยังคงเดินหน้าผลิตผลงานคุณภาพที่มุ่งสร้างสรรความบันเทิงเพื่อเชื่อมต่อในทุกโมเมนท์ของชีวิตคนด้วยความเข้าใจออกมาให้ปรากฎสู่สายตาประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับค่ายบันเทิงแถวหน้า “บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน)” ที่เล็งเห็นว่าปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ (OTT) มีมากขึ้น จึงได้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์และละครป้อนให้ครอบคลุมในทุกแพลตฟอร์ม พร้อมมองถึงรายได้และโอกาสเติบโตไปยังต่างประเทศ “คุณจ๊อป-ณฐกฤต วรรณภิญโญ” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนงานในครั้งนี้ว่า
“ในการทำงานของทีวี ธันเดอร์ สิ่งที่ปฎิบัติมาโดยตลอด คือการปรับตัวให้เข้ากับกระแสของโลกอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าในยุคนี้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิม ผู้ชมหันไปรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์ม (OTT) อาทิ LINETV, WeTV, AISPlay, Popsapp ฯลฯ มากขึ้น ยังไม่รวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอีกมากมาย ตรงนี้เรามองเห็นว่าสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้ ทีวี ธันเดอร์ จึงเดินหน้าผลิตละครและซีรีส์ป้อนทุกแพลตฟอร์ม ตอนนี้มีเรื่อง จากสูญ…ถึงสิบ, ใส่รักป้ายสี, สูตรเล่ห์เสน่หา, หน่าฮ่าน, ทริอาช, เสน่ห์หาสตอรี่ และที่อยู่ในการดำเนินการเตรียมผลิตอีก 4 เรื่อง ซึ่งมีแผนจะออกอากาศทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, ญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน, บราซิล ฯลฯ ผลงานของเราเปิดกว้างมีซีรีส์หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงซีรีส์วายที่ตลาดกำลังโตเป็นอย่างมากในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ใส่รักป้ายสี เรามีปิดดีลกับ U-Next ที่เป็น Local Platform อันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าทีวี ธันเดอร์ มีฐานแฟนคลับอยู่ในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก ถือเป็นการเพิ่มฐานแฟนคลับของศิลปิน-ดาราอีกด้วย จะเห็นได้ว่าตัวเลขรายได้เติบโตขึ้นทุกปี ในปี 2563 ตัวเลขอยู่ที่ 82 ล้านบาท ปี 2564 ด้วยวิกฤติโควิดที่ต้องพบเจอกันทำให้มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 55 ล้านบาท และในปี 2565 เป้าหมายมากกว่า 170 ล้านบาท
นอกจากนี้ก็ไม่ได้หยุดแค่การผลิตซีรีส์เพียงอย่างเดียว เรามองถึงการต่อยอดรายได้เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ จึงได้สร้าง Business Model ด้วยการทำ Merchandise ของศิลปิน-ดาราที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับเราในซีรีส์ เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับแฟนคลับที่ติดตามทั้งตัวซีรีส์และศิลปิน โดยเราจะมี Merchandise จากเรื่องนั้นๆ วางขายในตลาดขายของบนโลกออนไลน์อย่างลาซาด้าในชื่อ Lazmall TV Thunder Flagship Stores ซึ่งก็ได้กระแสตอบรับอย่างดี
“คุณจ๊อป-ณฐกฤต วรรณภิญโญ” กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า เวลานี้ยังมีอีกหลายประเทศ ที่สนใจในซีรีส์และละครของทางบริษัท อยู่ในขั้นตอนการเจรจาซื้อขาย ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านี้ ทำให้ตัวเลขที่คาดหวังเอาไว้ในปี 2565 ไม่ใช่เรื่องยาก”
Related