โดย สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย
ภายในปี 2568[1] การค้าออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าสูงถึงสองล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งวีซ่ามองเห็นหกเทรนด์สำคัญที่จะพาเราไปถึงจุดนั้น
แหล่งซื้อขายเกิดขึ้นได้ทุกที่ในโลก
จากเมื่อก่อนที่ต้องรอให้ถึงวันหยุดเพื่อไปห้าง แต่ทุกวันนี้มีร้านค้าออนไลน์มากมายที่ฝังตัวอยู่บนโลกโซเชียล เช่น การไลฟ์สตรีมมิ่งบนเครือข่ายโซเชียลที่ผู้ซื้อสามารถโต้ตอบกับอินฟลูเอนเซอร์ และซื้อของได้แบบเรียลไทม์ ร้านค้าออนไลน์ในรูปแบบนี้ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจะอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม เราจินตนาการว่าในอนาคตการซื้อของจะไม่จำกัดเฉพาะในร้านค้า โลกทั้งใบของเราจะเป็นตลาดที่เราสามารถค้นหาสินค้า ซื้อของได้ทุกที่ทุกเวลาจากทั่วทุกมุมโลก บนช่องทางโซเชียลที่หลากหลายและเข้าถึงได้
รองเท้าที่ดาวน์โหลดมาลองได้เอง และสินค้าในรูปแบบดิจิทัล
ไม่เพียงแต่ร้านค้าผันตัวสู่โลกออนไลน์ แต่สินค้าบางอย่างก็อาจเริ่มวางขายบนช่องทางออนไลน์เท่านั้น เมื่อผู้ซื้อใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้เกิดสินค้าที่มีเฉพาะในโลกออนไลน์เท่านั้น ซึ่งเราได้เห็นแล้วจากการใช้ชีวิตผ่าน Augmented Reality (AR) ที่ผู้คนสามารถลองสวมใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าในรูปแบบออนไลน์ได้ วีซ่าคาดว่าจะมีอีกหลายธุรกิจที่จะเริ่มลองตลาดสินค้าเฉพาะในรูปแบบออนไลน์นี้เพื่อเปิดตลาดใหม่ และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มที่พวกเขาใช้เวลาต่อวันมากที่สุด
ก้าวสู่อาณาจักร เมตาเวิร์ส
บางท่านอาจถามว่าแล้วเราจะใส่รองรองเท้าที่ดาวน์โหลดมาที่ไหน คำตอบก็คือรองเท้าดิจิทัลและสินค้าในรูปแบบดิจิทัลอื่นๆ จะมีชีวิตอยู่ใน “เมตาเวิร์ส” โลกดิจิทัลเสมือนจริงเต็มรูปแบบ ในเมตาเวิร์สเมื่อคุณถือเงินสกุลดิจิทัลอย่าง NFTs หรือ Non-Fungible Tokens คุณก็สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์อย่างงานศิลปะ ของสะสม หรือไอเทมในเกมต่าง ๆ และขายให้กับคนอื่นได้ด้วยบนช่องทางบล็อกเชน กล่าวได้ว่าเมตาเวิร์สน่าจะกลายเป็นพรมแดนใหม่ที่บรรดาธุรกิจอยากเข้าไปจับจองพื้นที่
ธุรกิจจะเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ขณะที่ธุรกิจมากมายกำลังเดินหน้าปรับตัวให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น หน่วยงานหน้าร้านและส่วนหลังบ้านอาจยังไม่เชื่อมต่อกันอย่างแท้จริง หน่วยงานหน้าร้านที่ต้องเจอกับลูกค้ามักจะเป็นส่วนแรกที่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก็อาจหยุดชะงักหากระบบสำหรับหน่วยงานหลังบ้านยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เท่าทัน หนึ่งตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน คือ ในช่วงการเกิดโรคระบาดมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานด้านการเงินในสิงคโปร์ยังคงต้องไปทำงานเอกสารที่ออฟฟิศ[2] ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจไม่ว่าเล็กใหญ่ควรปรับตัวให้เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
โกลคอลไลเซชัน (Glocalisation) ทางการค้า
เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นทั่วโลกล้วนแล้วแต่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชน ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมองหาลู่ทางใหม่ ๆ อย่างรวดเร็วในการจัดหาสินค้า ในอนาคตห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีความหลากหลายขึ้น มีทั้งในต่างประเทศและในประเทศ และพร้อมรับมือกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการขนส่งลำเลียงสินค้า
ช่องทางใหม่สู่แหล่งสินเชื่อและการลงทุน
ดาต้าทำให้การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การพิจารณาสินเชื่อในรูปแบบเดิมที่ทำให้ธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ถูกมองข้าม ข่าวดีคือดาต้าที่มีอยู่อย่างมากมายในรูปแบบดิจิทัล ทั้งจากการทำธุรกิจหรือการใช้ชีวิตประจำวันสามารถนำมาใช้เพื่อพิจารณาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ ได้แล้ว เช่น ข้อมูลจำพวกอัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ กระแสเงินสดสุทธิ หรือการสั่งซื้อ