โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการดิสรัปของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่พลิกผัน ล่าสุด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะองค์ความรู้ด้านธุรกิจ ที่จะนำพาสังคมสู่โลกใบใหม่ ได้จัดเสวนาธุรกิจ “Chula Masterverse 2022” จักรวาลแห่งนักคิด ระดมมาสเตอร์ กูรู จากหลากหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ กว่า 20 ท่าน มาร่วมถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันมุมมอง และเสนอแนะแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นถึงโลกใบใหม่ในการทำธุรกิจยุค Metaverse
รองศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะบัญชี จุฬาฯ ในฐานะตัวแทนวิทยากร และผู้จัดงาน เผยถึง Metaverse เป็นนวัตกรรม touchnology ที่เข้าถึงสัมผัสประสาททั้งห้า และเข้าใจ Human Instinct อย่างลึกซึ้ง เป็นโลกเสมือนจริง ที่เติมเต็มความรู้สึก ที่หาไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง นักการตลาดในยุค Metaverse จึงต้องเข้าใจผู้บริโภคอย่างลุ่มลึก ถึงความอยากจะเป็น ความปรารถนาเบื้องลึกของมนุษย์
“จะเห็นได้ชัดเจนว่า บิ๊กดาต้าที่ทำให้ทราบพฤติกรรมผู้บริโภคจากข้อมูลมหาศาลบนโลกจริง จะไม่สามารถใช้ได้กับโลกเสมือน เพราะไม่ได้เป็นโลกของ Actual Self หรือลักษณะตัวตนตามที่เป็นจริง ที่เคยทำมาแต่ก่อน แต่เป็น Ideal Self หรือตัวตนในอุดมคติ ดังนั้น Big Data ใหม่ เป็นเรื่องของ Human Data เช่น ทัศนคติ จินตนาการ ความรู้สึก อารมณ์ ที่ซ่อนเร้น ดังนั้น นักธุรกิจจึงต้องคิดกลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ที่เข้าใจผู้บริโภคในระดับที่ลุ่มลึกกว่าเดิม ชัดเจนมากขึ้น และมีความเข้าใจผู้บริโภคเชิงจิตวิทยา” รศ. ดร. วิเลิศ กล่าว และ เสริมว่า ด้วย Data เมื่อมีมากขึ้น และหาได้ง่ายขึ้นในโลกออนไลน์ ก่อให้เกิดคอร์รัปชันได้มากขึ้น เพราะหาตัวตนได้ยากขึ้น ซึ่งในอนาคตต้องมี Metaverse Security ซี่งจะมาพร้อมกับ ความเป็นส่วนตัว
ในยุคที่ไม่มีความแน่นอนเป็นอย่างสูง ธุรกิจต้องเตรียมพร้อม Strategy Mapping เกิดอะไรขึ้น ต้องทำการ mapping อย่างรวดเร็ว มีหลายกรณี กลยุทธ์หลากหลายรูปแบบรองรับ ด้านการเงินต้องสะอาด มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืน ในขณะที่ผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ต้องการสร้างสรรค์ธุรกิจที่ไม่เพียงมุ่งแสวงหากำไร แต่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคออนไลน์ Digital Sustainability เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเป้าหมาย SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ที่สอดคล้องกับยุค Metaverse ได้แก่ ข้อ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) สามารถเข้าถึง และเรียนรู้ได้ทุกที่ ซึ่งนำไปสู่เป้าหมายข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) และข้อ 5 ความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Equality)
ด้านการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ซี่งส่วนใหญ่จะพูดถึง Upskill Reskill แต่การมี Life Skill ทักษะการใช้ชีวิต จะป้องกันเราจากปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในโลก Metaverse เราจะเห็นคนอื่นในสิ่งที่เขาพยายามสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ ถ้ามี life skill จะเป็นเกราะป้องกัน ถ้าเรามีหลักกการที่แข็งแกร่ง เราก็จะมีหลักการบริการลูกค้าได้อย่างมีความสุขและถูกต้อง รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง ก่อนที่จะไปรู้เท่าทันอารมณ์ของลูกค้า
ฉะนั้นการตลาดไม่ใช่การขายสินค้า แต่เป็นการเติมเต็มความต้องการของลูกค้าให้เกิดความสุข เป็นการบริหารประสบการณ์ลูกค้าผ่านดิจิทัล และนวัตกรรม (DEM Digital Experience Management) ในโลก Metaverse ขายสินค้าที่มนุษย์อยากจะมี อยากจะเป็น ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ตอบสนอง
“ปี 2022 ทุกคนมีโลก 2 ใบ Actual Self และ Ideal Self ธุรกิจต้องพร้อมบนออนไลน์ 100% และไม่ใช่การขายคุณสมบัติสินค้า แต่เป็นการขายความรู้สึกอารมณ์ และสังคม สุดท้าย คือการทำธุรกิจที่ยังคงต้องมีโลก 2 ใบเช่นกัน คือขายของทั้ง Offline และ Online ด้วย บริษัทต้องเข้าใจ Human Insight ตัวตนของผู้เกี่ยวข้อง อย่างแท้จริงในยุค Metaverse จึงจะก้าวล้ำในโลกอนาคต ไม่ใช่แค่ก้าวทันโลก” รศ ดร. วิเลิศ กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจข้อมูลฉบับเต็มของ Chula Masterverse สามารถชมคลิปวิดีโอได้ที่ https://www.facebook.com/CBSChula/