“แม็คโคร” โชว์ผลงานปี 64 ทำรายได้รวม 266,435 ล้านบาท เติบโต 21.8% เดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสหนุน SME พร้อมชูธง O2O รับยุคดิจิทัล

บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO หรือ บริษัทฯชูผลงานปี 2564 ทำรายได้รวม 266,435 ล้านบาท เติบโตดีกว่าปีก่อน 21.8% และกำไรสุทธิ 13,687 ล้านบาท แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคได้รับผลกระทบจาก COVID-19 พร้อมเดินหน้าวางยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตต่อเนื่อง เร่งพัฒนาธุรกิจ O2O พลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัล ควบคู่การพัฒนา แพลตฟอร์มแห่งโอกาส สนับสนุน SME ผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกร ในทุกช่องทาง ขยายการเติบโตสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน 

นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สายงาน Group Shared Service เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2564 สามารถสร้างการเติบโตทั้งรายได้และกำไรในระดับที่ดี แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่และการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ในรอบปีที่ผ่านมา โดยทำรายได้รวม 266,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.8 % จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 218,760 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 13,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108.6% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,563 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานดังกล่าว ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ แม็คโคร’ เริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มโลตัสส์ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 หลังรับโอนกิจการแล้วเสร็จในวันดังกล่าว

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจากผลการดำเนินงานปี 2564 ในอัตรา 0.72 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 5,306 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ กันยายน 2564 ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.40 บาทต่อหุ้น คงเหลือต้องจ่ายเงินปันผลอีกในอัตรา 0.32 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวัน Record Date ในวันที่ มีนาคมนี้ และจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลือในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวของบริษัทฯ ต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565

นางเสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า หลังจากแม็คโครรับโอนกิจการกลุ่มโลตัสส์ทำให้มีธุรกิจครอบคลุมทั้งการค้าส่งแบบ B2B (Business to Business หรือการค้ากับผู้ประกอบการ) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer หรือการค้ากับผู้บริโภค) รวมถึงมีรายได้จากพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น โดยจะใช้จุดแข็งของทั้งแม็คโครและโลตัสส์ ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจทั้งค้าส่งและค้าปลีก ขยายฐานธุรกิจในเอเชียใต้และอาเซียน เพื่อเติบโตต่อไปในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการพัฒนา แพลตฟอร์มแห่งโอกาส เพื่อสนับสนุน SME ผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกร ผ่านช่องทางจำหน่ายในทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมในด้านการพัฒนามาตรฐานการผลิตและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ขณะเดียวกันได้เดินหน้าภารกิจ Digital Transformation อย่างต่อเนื่องเพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคและ ผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน โดยการผสมผสานและพัฒนาช่องทางการขายสินค้าออฟไลน์และออนไลน์ (offline and online หรือ O2O) อย่างไร้รอยต่อ การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายออนไลน์ (Marketplace) เพื่อเพิ่มช่องทางแห่งโอกาสให้กับ SME และเกษตรกร รวมถึงลงทุนด้านบิ๊กดาต้าเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและนำมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญและยึดมั่นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมภิบาล (ESG) อาทิ การสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรไทยเพื่อสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น, เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ ฯลฯ

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม็คโคร ได้ขยายสาขาในประเทศเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ สาขาสุขุมวิท 22, สาขาลำลูกกา จ.ปทุมธานีสาขาถนนจันทน์ และ สาขาแพรกษา จ.สมุทรปราการ ส่งผลให้ปัจจุบันแม็คโครมีสาขาในประเทศไทยรวม 144 แห่ง ขณะที่กลุ่มโลตัสส์ประเทศไทย ปัจจุบันมีสาขาจำนวนกว่า 2,600 สาขา โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ ทั้งสองกลุ่มจะมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง