Google มุ่งมั่นสนับสนุนการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก

การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพทุกขนาดเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของ Google ในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และ Google มองเห็นศักยภาพของการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียแปซิฟิกมาโดยตลอด ในภูมิภาคนี้มีกลุ่มผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่หลากหลาย มากความสามารถ และเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยมีเม็ดเงินร่วมลงทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

การสรรสร้างเพื่อคนทั้งโลก

ในเดือนเมษายน 2564 มีธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป) เกือบ 200 รายในเอเชียแปซิฟิก คิดเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา (290) และแซงหน้ายุโรป (69) ธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำหลายรายในเอเชียสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการจุดประกายโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น Grab และ  ‘ซูเปอร์แอป’ (Super App) อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือการจัดการกับปัญหาในระดับสากล เช่น CogSmart ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินงานเพื่อช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย

ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เกิดความต้องการบริการดิจิทัลใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผยให้เห็นว่ามี ‘ผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล’ รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน โดยมีการใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่

การสำรวจเทคโนโลยีอุบัติใหม่

เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรในโลกออนไลน์ในภูมิภาคนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพของเอเชียจึงมุ่งสำรวจความเป็นไปได้จากวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายบริษัทต้องการช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคม การเงิน และสิ่งแวดล้อมที่หยั่งรากลึกมานาน โดยมักจะเน้นไปที่ภาคส่วนที่ยังขาดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับที่ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมที่มั่นคงกว่าในเศรษฐกิจดิจิทัล

  • ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ผู้ก่อตั้งในภูมิภาคนี้ต่างมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลากหลายแอปพลิเคชันที่มากประสิทธิผล ai ของอินโดนีเซียเป็นผู้นำด้าน AI ที่สนทนาโต้ตอบได้ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ขณะที่ BrainSightAI ของอินเดียกำลังสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยให้นักวิจัยและแพทย์เข้าใจกลไกสมองมนุษย์ได้ดีขึ้น
  • ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance หรือ DeFi) เป็นอีกแขนงหนึ่งที่กำลังเติบโต ธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน DeFi ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถระดมทุนได้ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่าของปี 2563 เมื่อทุกคนเริ่มเปลี่ยนแนวคิดทางการเงินและการซื้อขายที่ฉีกออกไปจากเดิม ผู้ประกอบการผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง DA:Ground ของเกาหลีจึงช่วยให้ผู้คนในภูมิภาคนี้สามารถลงทุนและเข้าถึงบริการทางการเงินอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
  • เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และอีคอมเมิร์ซในเอเชียกำลังเฟื่องฟู ผู้ก่อตั้งหลายรายที่ทำงานในด้าน FinTech ต่างได้รับแรงผลักดันจากเป้าหมายที่นำไปสู่ความครอบคลุมทางการเงินมากขึ้นและสร้างประสบการณ์ด้านอีคอมเมิร์ซที่ดียิ่งขึ้นด้วย Advance ของฟิลิปปินส์กำลังพยายามที่จะช่วยให้ลูกจ้างชาวฟิลิปปินส์เข้าถึงเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ย 0% ได้ง่ายขึ้นผ่านความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบกับเหล่านายจ้าง ขณะที่ Shopinks ในสิงคโปร์ก็ช่วยให้ผู้ค้าปลีกสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีขึ้นผ่านแชทบ็อตและอีเมลแบบเจาะจงเป็นรายบุคคล
  • สถานการณ์โรคระบาดทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างมากในธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เช่น Zyla ของอินเดีย ซึ่งให้บริการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงผ่านแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และ Caredoc ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติเกาหลีที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานดูแลผู้สูงอายุ
  • ผู้ก่อตั้งรายอื่นๆ หันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากเอเชียมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีส่วนร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ ได้แก่ Duitin ของอินโดนีเซีย ซึ่งบริหารดูแลจุดจัดการของเสีย 2,000 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย และ Lockists ของไต้หวัน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการร่วมเดินทางที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศได้ด้วยการลดปริมาณการใช้รถ

การวางรากฐานเพื่อการเติบโต

แม้ว่าจะมีการระดมทุนเป็นจำนวนมากสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชีย แต่ Google ตระหนักดีว่าผู้ก่อตั้งในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอีกมากมายหลากหลายด้านนอกเหนือไปจากการลงทุน โดยความท้าทายหลักๆ ที่สตาร์ทอัพในเอเชียแปซิฟิคส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ รัฐ และจังหวัด) การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยี และอัตราผู้ประกอบการสตรีที่ต่ำลงในปัจจุบัน

เป้าหมายของ Google ก็คือการร่วมมือกับทุกฝ่ายในชุมชนสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทร่วมทุน หรือรัฐบาล เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศไปข้างหน้าทั้งระบบ ในปีนี้ Google กำลังดำเนินโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ‘Google for Startups Accelerator’ ในอินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้การสนับสนุนและคำปรึกษากับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ก้าวเข้าสู่ระยะเติบโต (Growth Stage) ด้านโครงการ Startup Academy ใหม่ของเราซึ่งเปิดตัวในอินโดนีเซีย จะแนะแนวทางให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early Stage) นอกจากนี้ เรายังพยายามช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพที่หลากหลายขึ้นด้วยโครงการ Women Founders Academy และยังคงสานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในภาครัฐและเอกชนที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันผ่านโครงการริเริ่ม อาทิ Project Hatcher ในไต้หวัน หรือโครงการ Startups & FinTechs ที่เราร่วมมือกับ Cyberport ในฮ่องกง

สตาร์ทอัพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้ให้คำปรึกษาของ Google ในโครงการ Google for Startups Accelelerator: Southeast Asia ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก

ในช่วงจังหวะที่มีโอกาสมากมายสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียเช่นนี้ Google จึงต้องการที่จะมั่นใจว่าผู้ก่อตั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้จะได้รับโอกาสเพื่อช่วยให้พวกเขาเติบโต ก้าวหน้า และสร้างสรรค์เทคโนโลยีให้กับภูมิภาคนี้และทั่วโลกต่อไป