ณ งานประชุมระดับโลก Huawei Day0 Forum ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ก่อนวันงาน MWC22 นายไรอัน ติง กรรมการบริหารของหัวเว่ยและประธานกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “Lighting up the Future” หรือ “จุดประกายแห่งอนาคต” โดยกล่าวว่า กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัย ได้แก่ ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ ความหลากหลายของระบบประมวลผล และความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ เขายังได้เรียกร้องให้กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมร่วมดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ “GUIDE” ซึ่งเป็นแผนแม่บททางธุรกิจของหัวเว่ย เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน
เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลกกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2565 มากกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ (GDP) ของทั้งโลกจะถูกเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบดิจิทัล ในหลายๆ ประเทศและภูมิภาคอย่างเช่น จีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ต่างประกาศแผนการลงทุนจำนวนมหาศาลสำหรับรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และในฐานะผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางไอซีที ผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมจะก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้น ในด้านการเป็นผู้นำการพัฒนาสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
เครื่องมือสำคัญ 3 ประการที่ช่วยกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจแบบดิจิทัล
ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ นายติงยังได้อธิบายว่า ความสำคัญของเศรษฐกิจแบบดิจิทัลสามารถประเมินได้จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ ความหลากหลายของระบบประมวลผล และความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมสำหรับการกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัล
ด้วยการเพิ่มความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ จะทำให้กลุ่มผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพิ่มจำนวนฐานผู้ใช้เทคโนโลยี 5G พร้อมทั้งขยายความครอบคลุมของธุรกิจของพวกเขาได้ และด้วยการเพิ่มความหลากหลายของทรัพยากรด้านการประมวลผลจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโครงข่ายพัฒนาการผสานระหว่างการเชื่อมต่อและระบบไอที เพื่อยกระดับการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในระดับองค์กรและสร้างการเติบโตใหม่ๆ สำหรับด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โซลูชันด้านไอซีทีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ๆ อย่างโซลูชันจากหัวเว่ยจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านโครงข่ายและลดการใช้พลังงานต่อบิต เพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยี 5G ได้พัฒนามาอย่างยาวไกล
การเปิดใช้งานเครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นับแต่นั้นมา จำนวนของเครือข่าย ผู้ใช้งาน และอุปกรณ์ด้าน 5G ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมกว่า 200 ราย ที่เปิดให้บริการเครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์ ให้บริการผู้ใช้งานบนเครือข่าย 5G มากกว่า 700 ล้านคน ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ 5G ที่ได้รับการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากกว่า 1,200 ชิ้น ฐานผู้ใช้งานที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องนำมาซึ่งผลตอบแทนทางธุรกิจแก่กลุ่มผู้ให้บริการทางโทรคมนาคม อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการขยายโครงข่ายอย่างไม่หยุดยั้ง
นายติงยังได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของเครือข่าย 5G จากผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมหลากหลายราย และแสดงให้เห็นว่าแอปพลิเคชัน 5G ใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และสื่อวิดีโอรูปแบบใหม่ สามารถส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ใช้งานได้อย่างไร นอกจากนี้ โมเดลการกำหนดราคาของการใช้บริการเครือข่าย 5G ที่ยืดหยุ่นยังเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้งานและผู้ให้บริการเครือข่าย และยังช่วยผลักดันให้ฐานผู้ใช้งานเครือข่าย 5G สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ในประเทศจีน ได้มีการติดตั้งเครือข่าย 5GtoB (5G สำหรับการใช้งานระดับองค์กรธุรกิจ) แบบส่วนตัวในวงกว้างสำหรับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม โดยภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยได้ลงนามในสัญญา 5GtoB เชิงพาณิชย์กับผู้ให้บริการเครือข่ายและพาร์ทเนอร์ในจีนมากกว่า 3,000 ฉบับ ด้วยประสบการณ์มหาศาลด้านการนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้กับแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นก็คือ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ของประเทศจีน ซึ่งมีการใช้งานเครือข่าย 5G ในเหมืองถ่านหินเพื่อควบคุมหัวตัดถ่านหินจากทางไกล ส่งผลให้คนงานเหมืองถ่านหินได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้นนับตั้งแต่มีการติดตั้งเครือข่าย 5G
ผสานการเชื่อมต่อและนวัตกรรมไอทีเพื่อการเติบโตครั้งใหม่
นายติงยังได้ระบุว่าเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีขึ้นใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพของการปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้น หัวเว่ยจึงผสานเทคโนโลยีไอทีกับซีที คลาวด์กับเอดจ์ และคลาวด์กับเครือข่ายเข้าด้วยกัน โดยมุ่งหวังให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมทั้งประสบความสำเร็จด้านการเติบโตทางรายได้ครั้งใหม่ เช่น ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โซลูชัน OneStorage ของหัวเว่ยช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายรายหนึ่งลดต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (TCO) ได้ถึงร้อยละ 30
ไอซีทีสีเขียว: บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง
ไอซีทีสีเขียวคือกุญแจดอกสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมไอซีทีได้ส่งมอบเทคโนโลยีใหม่ซึ่งช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงได้ คาดว่าสัดส่วนการลดลงนี้จะมากกว่าการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมไอซีทีเองถึง 10 เท่า โดยภายในงานประชุมดังกล่าว นายติงยังได้กล่าวถึงกลยุทธ์สีเขียวของหัวเว่ย นั่นคือ “บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง” (More Bits, Less Watts) ด้วยโซลูชันสีเขียวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไซต์สีเขียว เครือข่ายสีเขียว และการปฏิบัติการสีเขียว หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพเครือข่ายของผู้ให้บริการและลดการใช้พลังงานต่อบิตลง นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอดัชนีชี้วัดการเกิดคาร์บอนต่อจีดีพีในเครือข่าย (Network Carbon Intensity) เพื่อบ่งบอกถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมไอซีที และช่วยเหลือบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายในการทำให้กลยุทธ์สีเขียวเป็นจริง
ในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ นายติงยังได้นำเสนอแผนแม่บททางธุรกิจของหัวเว่ยในชื่อ GUIDE ที่มุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ให้บริการเครือข่ายในการพัฒนาศักยภาพสำคัญ 5 ประการซึ่งจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ได้แก่ การขยายบริการ การสร้างนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การแข่งขันทางมูลค่า และการสร้างประโยชน์ต่อสังคม
งานมหกรรม MWC Barcelona 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน หัวเว่ยจัดแสดงผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่บูธ 1H50 ห้อง Fira Gran Via Hall 1 โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม และผู้นำทางความคิด เพื่อเจาะลึกในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์อุตสาหกรรม แผนแม่บท GUIDE สู่อนาคต และการพัฒนาสีเขียว เพื่อแสดงวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของเครือข่ายดิจิทัล โปรดติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://carrier.huawei.com/en/events/mwc2022
Related