สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในภาพรวมพบว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 20,000 รายต่อวันและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการผู้ค้าปลีกไทยโดยภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น 9.3 จุด และอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับดีขึ้นเล็กน้อยอีก5.6 จุดเนื่องจากมาตรการภาครัฐที่มาถูกเวลาทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” และ “ช้อปดีมีคืน” รวมถึงความร่วมมือของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่ายในการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นพร้อมกับการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างหนักเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจรอบนี้ของเราต้องบอกว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้น 9.3 จุด เกิดจากความความพยายามร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน ในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วยการตรึงราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่าย ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์รายใหญ่กว่า 30 ราย เพื่อตรึงราคาให้ครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 500 รายการมาตั้งแต่ปลายปี 2564รวมทั้งได้รับผลจากมาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐเพิ่มอีกแรงส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG) ปรับเพิ่มขึ้น15.2จุดแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 จุดซึ่งเกิดจากความถี่ในการจับจ่าย (Frequency Of Shopping) ที่เพิ่มขึ้น 16.3จุด แต่ยอดซื้อต่อบิล Spending Per Bill หรือ Per Basket Size นั้นยังอยู่ในอัตราทรงตัวที่5.2 จุดดังนั้นการจับจ่ายที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะการซื้อทีละน้อยแต่ซื้อบ่อยครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับความระมัดระวังในการจับจ่ายที่ซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะสินค้าหลายหมวดหมู่มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
โดยมีข้อสรุปของดัชนีความเชื่อมั่นในประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI)เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 9.3 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนมกราคมที่43.4จุด สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ยังไม่มั่นคง เนื่องจากความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับราคาสินค้าที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเพียง 5.6 จุด จากระดับ 53.1จุด ในเดือนมกราคม มาที่ 58.7 จุด เดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่กระจายไปอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
- ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม จากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50จุด ทุกภูมิภาค สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังกังวลในการฟื้นตัวของกำลังซื้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะราคาพลังงานและราคาอาหารสดมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “การประเมินกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดของโอมิครอนจากมุมมองผู้ประกอบการ” ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-24 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้
- แนวโน้มการพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
– 44% อาจจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกิน 5%
– 33% รอการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ
- ผลกระทบต่อธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนเมื่อเทียบกับเดลต้า
-63% ผลกระทบโอมิครอนน้อยกว่าเดลต้า
-33% ผลกระทบโอมิครอนใกล้เคียงกับเดลต้า
-4% ผลกระทบโอมิครอนมากกว่าเดลต้า
- ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” 2565
3.1 จำนวนลูกค้าเมื่อเทียบเดือนมกราคม 2565 กับเดือนธันวาคม 2564
– 59.5% จำนวนลูกค้ามาจับจ่าย มากขึ้น
-20.1% จำนวนลูกค้ามาจับจ่าย เท่าเดิม
-20.4% จำนวนลูกค้ามาจับจ่าย น้อยลง
3.2 จำนวนใบกำกับภาษี
-82.7% จำนวนใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น 1-5%
-11.4% จำนวนใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น 6-10%
จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการกว่า 44% อาจจะพิจารณาปรับค่าจ้างแต่ไม่เกิน 5% ในขณะที่ผู้ประกอบการ33% ระบุว่าจะยังไม่พิจารณาปรับค่าจ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะปรับค่าจ้างในขณะที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวและสถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังไม่มีความชัดเจน แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะน้อยกว่าเดลต้า แต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเดลต้าที่มาก่อนหน้านี้ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมของธุรกิจยังได้รับผลกระทบอยู่ สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แม้ว่าในช่วงเวลาที่เริ่มต้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้น เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโอมิครอนทำให้มู้ดในการจับจ่ายใช้สอยไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่ายอดขายเติบโตได้ขนาดนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ แต่หากโครงการ“ช้อปดีมีคืน” สามารถทำเฟสต่อไปได้ โดยขยายเวลาเป็น3 เดือน และขยายวงเงินเป็น 100,000 บาท ผลลัพธ์จะทำให้สามารถนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทยสามารถดำรงสภาพคล่องและคงการจ้างงานไว้ได้
ย้ำ 3 ข้อเสนอต่อภาครัฐ
- เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโดยภาครัฐ ให้มีการอนุมัติและดำเนินการโครงการต่างๆเพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
- พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุดภาครัฐควรพิจารณาใช้ทุกมาตรการ เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง เพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด
- คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรพิจารณากระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (Local Consumption) ผ่าน โครงการ “คนละครึ่ง” และ โครงการ “ช้อปดีมีคืน”
“จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังต้องมุ่งมั่นในการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและรอบด้าน นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนส่งเสริมให้เอกชนลงทุนภายในประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ท้ายที่สุดนี้คือ การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วนจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยได้ไปต่อ” นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย