ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย เสนอวิธีปฏิรูปกระบวนทัศน์ต่อเทคโนโลยีสามด้าน เสริมศักยภาพการแข่งขันระยะกลางและระยะยาว

นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ยกล่าวภายในงาน MWC Barcelona 2022 ว่าบริษัทฯ จะสานต่อยุทธศาสตร์เชิงโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และเพิ่มการลงทุนเชิงกลยุทธ์ไปกับเทคโนโลยีพื้นฐานมากยิ่งขึ้น โดยหัวเว่ยหวังว่าการลงทุนเหล่านี้จะช่วยปฏิรูปทฤษฎีพื้นฐาน สถาปัตยกรรมพื้นฐาน และซอฟต์แวร์พื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมทั้งเสริมศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระยะกลางและระยะยาวให้กับหัวเว่ย และความยั่งยืนในระยะยาวของอุตสาหกรรมไอซีที

ทั้งนี้ ในคำปราศัยออนไลน์ในหัวข้อ “มองไปข้างหน้า จุดประกายแห่งอนาคต (Just Look Up, Let’s Light Up the Future)” นายกัว ผิง ได้เน้นย้ำถึงสองประเด็นสำคัญที่นำมาทั้งความท้าทายและโอกาส ซึ่งก็คือการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลและความเป็นกลางทางคาร์บอนทฤษฎีและสถาปัตยกรรมที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของความต้องการด้านดิจิทัลได้

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2565  กว่า 50% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลก (จีดีพี) จะมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็วส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลทะยานสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ นายกัว ผิง อธิบายว่าทฤษฎีของแชนนอน (Shannon’s theorem) และสถาปัตยกรรมฟอนนอยมันน์ (von Neumann architecture) ยังคงเผชิญกับปัญหาอย่างรุนแรงเรื่อยมา ภาคอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องสำรวจทฤษฎีและสถาปัตยกรรมใหม่ๆ เพื่อปฏิรูปกระบวนทัศน์เทคโนโลยีและสร้างความยั่งยืนเชิงดิจิทัล

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลต่อศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัล

นายกัว ผิง กล่าวเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า “ความสามารถในการรองรับความหนาแน่นของการเชื่อมต่อและพลังของการประมวลผล จะเป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เราจำเป็นต้องคำนึงถึงศักยภาพในระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย จึงต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในมิติใหม่ๆ อย่างการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

ปัจจุบัน หัวเว่ยยึดมั่นตามกลยุทธ์ “บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง” ซึ่งนอกเหนือจากการปรับปรุงประสิทธิภาพทางดิจิทัลขั้นพื้นฐานแล้ว หัวเว่ยยังมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.7 เท่า ด้วยการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ด้านทฤษฎี ด้านวัสดุ และด้านอัลกอริธึม ซึ่งการพัฒนานี้จะทำให้อุตสาหกรรมไอซีทีสามารถช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาได้ ซึ่งอันที่จริง วิธีนี้จะสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าปริมาณที่อุตสาหกรรมไอซีทีปล่อยออกมาเองถึง 10 เท่า

  • หัวเว่ยกำลังเพิ่มการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อปฏิรูปกระบวนทัศน์ทางเทคโนโลยีใหม่

นายกัว ผิง ยังกล่าวอีกว่า “หัวเว่ยกำลังเพิ่มการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคโนโลยีพื้นฐานอย่างมาก และทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางเทคโนโลยีในสามด้าน ได้แก่ ทฤษฎีพื้นฐาน สถาปัตยกรรมพื้นฐาน และซอฟต์แวร์พื้นฐาน การลงทุนดังกล่าวจะค่อยๆ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์หัวเว่ย ซึ่งหวังว่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาในระยะยาวและยั่งยืนของทั้งบริษัทและอุตสาหกรรมไอซีทีในภาพรวม”

การลงทุนครั้งนี้ยังมุ่งเน้นในการทำให้บริษัทเข้าใกล้ขีดจำกัดของแชนนอน (Shannon’s Limit) มากขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นเกินขีดจำกัดไปเลย ทั้งนี้ ด้วยการสำรวจทฤษฎีและเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เจเนอเรชันใหม่ของ MIMO และปัญญาประดิษฐ์ไร้สาย ทำให้หัวเว่ยสามารถผลักดันเทคโนโลยีของตนให้เข้าใกล้ขีดจำกัดของแชนนอนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการวิจัยในทฤษฎีใหม่ๆ อาทิ การสื่อสารเชิงความหมายซึ่งจะชี้นำภาคอุตสาหกรรมไอซีทีไปสู่ทฤษฎีพื้นฐานใหม่ๆ

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังพัฒนาสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นอีกด้วย โดยปัจจุบันกำลังผสานรวมเทคโนโลยีการสร้างและการควบคุมแสง (โฟโตนิก) เทคโนโลยีวงจรไฟฟ้า (อิเล็กทรอนิกส์) รวมทั้งออกแบบสถาปัตยกรรมการเชื่อมต่อแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายทางเทคโนโลยีหรือปัญหาที่ติดขัด

ในด้านซอฟต์แวร์ หัวเว่ยกำลังสร้างซอฟต์แวร์แบบ Full-Stack ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นศูนย์กลางและอีโคซิสเต็มซอฟต์แวร์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับความสามารถในการประมวลผลที่เกิดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์

  • “การทำงานร่วมกันระหว่างซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์” จะเป็นหนทางไปสู่อนาคต

นายกัว ผิง ได้อธิบายในตอนท้ายว่า ประสบการณ์อันยอดเยี่ยมของผู้ใช้งานมาจากการทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียวระหว่างซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยเขาได้ใช้สองตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า หัวเว่ยนำแนวคิดนี้ไปใช้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอซีที และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อวิวัฒนาการเครือข่าย โดยตัวอย่างแรกคืออัลกอริธึมที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมสำหรับ AHR Turbos และช่วยให้ MetaAAUs ใช้พลังงานน้อยลงทั้งยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ตัวอย่างที่สองคือความก้าวหน้าของอัลกอริทึมในเลนส์โฮโลกราฟิกทำให้ OXCs สามารถเชื่อมต่อแบบ one-hop ได้

  • หัวเว่ยเป็นบริษัทที่มีศักยภาพด้านไอซีทีที่ครบวงจรที่สุดในอุตสาหกรรมดิจิทัล

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการของเครือข่ายอยู่ในขั้นตอนของการนำแนวทางปฏิบัติด้านไอที (IT) ไปสู่ซีที (CT) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง IP ไปจนถึงเทคโนโลยีคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ในฐานะบริษัทที่มีศักยภาพด้านไอซีทีอย่างครบวงจรที่สุดในอุตสาหกรรมดิจิทัล นายกัว ผิงได้กล่าวว่า หัวเว่ยมั่นใจที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาเครือข่ายซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐานในอนาคตได้

นายกัว ผิงกล่าวปิดสุนทรพจน์ว่า “หัวเว่ยจะยังคงดำเนินยุทธศาสตร์เชิงโลกาภิวัฒน์ ทั้งในด้านมาตรฐาน บุคลากรที่มี ความสามารถ ห่วงโซ่อุปทาน และด้านอื่นๆ อีกมาก อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกค้าให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

งาน MWC Barcelona 2022 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่บูธ 1H50 ใน Fira Gran Via Hall 1 ร่วมกับผู้ให้บริการระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และผู้นำทางความคิด มุ่งเน้นเจาะลึกในหัวข้อต่างๆ เช่น เทรนด์ของอุตสาหกรรม กลยุทธ์ GUIDE สู่อนาคต และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของเครือข่ายดิจิทัล โดยสามารถดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://carrier.huawei.com/en/events/mwc2022