กระทรวงวัฒนธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ ๗ องค์กรเอกชนเพื่อร่วมกันส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการและขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชุมชนสร้างรายได้อย่างยั่งยืน หลังบรรลุเป้าหมายงาน CCPOT GRAND EXPOSITION ผลตอบรับดีเกินคาด สร้างมูลค่าการค้าสูงถึง ๖๐๐ ล้าน
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงาน “โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย” (CCPOT) สู่สากล และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย โดยมีนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร องค์กรเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ชุมชนวัฒนธรรมและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องแกลเลอรี่ ๕ ชั้น ๑ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย โดยดำเนินโครงการงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION ที่จัดไปเมื่อวันที่ ๑๖ – ๒๐ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งผลของการจัดงานดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เกิดการเจรจาธุรกิจมากกว่า ๒๖๐ คู่ สามารถสร้างมูลค่าการค้า ได้กว่า ๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งมูลค่าที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนรายใหญ่มาช่วยต่อยอดขยายตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชน ทำให้ชุมชนมีงานทำ มีรายได้ เศรษฐกิจชุมชนสามารถดำรงต่อไปได้อย่างยั่งยืน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีของกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ๗ องค์กรเอกชนที่จะร่วมกันส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือหลักที่จะดำเนินการร่วมกันจะอยู่ในกรอบระยะเวลา ๓ ปี ได้แก่ การส่งเสริมกิจกรรมความรู้พัฒนาศักยภาพตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายรวมถึงความร่วมมือกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยให้เป็นที่รู้จักผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ และสนับสนุนพื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งใน และต่างประเทศ สำหรับความร่วมมือดังกล่าวกระทรวงฯ และองค์กรเอกชนจะร่วมกันดำเนินการ แก้ไขปัญหา/อุปสรรค เพื่อร่วมกันผลักดันให้โครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้โครงการนี้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่าจากการหารือกับ ๗ องค์กรเอกชน เบื้องต้นได้รับคำ แนะนำว่าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยกำลังเป็นที่จับตามองจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ ที่หาได้ยากเป็นงานฝีมือที่มีคุณค่า ซึ่งภาคเอกชนมีความสนใจและต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย เป็นจำนวนมาก เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคนำไปจำหน่ายในช่องทางการตลาดของตนเองที่เป็นการตลาด ที่จำหน่ายสินค้าในพื้นที่จริง (offline) และตลาดออนไลน์ (online) โดยเน้นว่าผลิตภัณฑ์จะต้องมีเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมและแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชน สำหรับองค์กรเอกชนทั้ง ๗ หน่วยงานที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง กับทางกระทรวงวัฒนธรรมในวันนี้ ได้แก่
๑. สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย (THTA) และ สมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA)
๒. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ (Creative Craft Industry Club)
๓. สมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร (CASA Association) สนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการเพื่อขยายตลาดสู่ประเทศจีน
๔. Thai Pavilion Corporate Co., Ltd. ตัวแทนการค้ารายใหญ่เพื่อนำสินค้าไทยไปจำหน่ายในประเทศจีน ในหลากหลายช่องทางรวมถึงสนามบิน
๕. บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ดำเนินการร้านใบเมี่ยง ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพรายใหญ่
๖. บริษัท บางกอก อินสตรูเม้นท์ เซ็นเตอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจนำสินค้าจากผู้ประกอบการเข้าสู่ห้างค้าปลีกทั้งในและต่างประเทศ
๗. บริษัท ครีเอทีฟ สเปซชิพ จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนและฮ่องกง มากว่า ๑๐ ปี อาทิ ALIBABA.COM TMALL.COM TAOBAO WEIBO.COM GOOD ROUGTHER
“ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นเพียงก้าวแรกของการดำเนินงานในโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยสู่สากล นับจากนี้ต่อไปกระทรวงวัฒนธรรมยังมีแผนที่จะขยายไลน์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนจากที่ทำอยู่ในปัจจุบันในกลุ่ม ผ้าทอ งานจักสาน ของที่ระลึก งานหัตถกรรม อาหารแปรรูป ต่าง ๆ จะขยายไปสู่ไลน์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการสานต่อความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการฐานราก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบาย การนำวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจด้วยการพัฒนายกระดับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรม และขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาบนหลักการของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG นั่นเอง” รมว.วธ.กล่าว