บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ เคพีไอ (KPI) เผยวิสัยทัศน์ใหม่ปี 2565 เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชื่อมโยงทุกมิติชีวิต ด้วยเทคโนโลยีและบริการที่ทุกคนเข้าถึงง่าย พร้อมสร้างคุณค่าแก่สังคมไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งต่อยอดธุรกิจในปี 2565 ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับตรงเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 พันล้าน ในปี 2565 ผ่านการทำกลยุทธ์ธุรกิจแบบ O2O (Offline-to-Online) ผสานคุณค่าจากธุรกิจออฟไลน์ไปยังออนไลน์ เพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการขยายกลุ่มตัวแทน นายหน้า พันธมิตรคู่ค้า มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เคพีไอ ได้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาต่อยอดระบบการทำงาน เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลายเพื่อตอบรับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
นอกจากนี้ เคพีไอ ยังตั้งเป้าในการเพิ่มลูกค้าให้ได้จำนวน 5 ล้านรายในปี 2570 ด้วยการนำกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2565 มาปรับใช้และให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจแบบออฟไลน์ร่วมกับ กลุ่มตัวแทน นายหน้า พันธมิตรคู่ค้าทั่วประเทศ ผสานการใช้โมเดลธุรกิจแบบออนไลน์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาออกแบบระบบการทำงาน เพื่อรองรับตัวแทน นายหน้า ให้สามารถบริหารจัดการงานขายทุกกระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงการมุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงการใช้บริการได้ง่ายขึ้นบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน นอกจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรภายในองค์กร ให้มีทักษะในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงการสร้างยอดขายและการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างดีที่สุด
ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปี 2565 นี้ เคพีไอ ได้วางแผนกลยุทธ์การทำงานให้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัทฯ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับธุรกิจประกันภัย ที่ต้องปรับตัวอย่างมากให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการแบบใหม่ ๆ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือกับคู่ค้าพันธมิตรธุรกิจ ตัวแทน นายหน้าทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและทุกที่ ทุกเวลา ที่เขาต้องการ”
เคพีไอ ตั้งเป้าในการผลักดันให้ประกันภัยเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะเชื่อมโยงเข้ากับทุกมิติชีวิตของผู้บริโภคให้มากขึ้น ผ่านแนวคิดในการทำงานดังนี้
- การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ง่าย
- การใช้กลยุทธ์ด้านการบริหารงานแบบ O2O (Offline-to-Online) ที่ให้ความสำคัญกับคู่ค้าพันธมิตรธุรกิจ ตัวแทน นายหน้าทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการผสมผสานและสร้างคุณค่าให้กับตัวแทน นายหน้า ด้วยการพัฒนาระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับให้การทำงานของตัวแทน นายหน้าให้คล่องตัวขึ้น เช่น การนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย การนำเสนออัตราเบี้ยประกันภัย การจัดการกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลในระบบของแต่ละตัวแทน นายหน้านั้น ๆ ให้สามารถจัดการข้อมูลของตัวเองได้ โดยวางเป้าที่จะเพิ่มจำนวนตัวแทนและนายหน้าอีก 700 ราย ภายในกลางปี 2565 นี้
- การพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ เพื่อให้บริการลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยแนวคิดการออกแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ที่ลูกค้าสามารถจัดการข้อมูลและเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง นอกจากนี้ เคพีไอ ยังมีบริการเสริมอีกมากมายเพื่อให้บริการกับลูกค้า โดยร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย
เคพีไอ ในฐานะบริษัทประกันวินาศภัยสัญชาติไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านประกันภัยมาอย่างต่อเนื่องจนย่างเข้าปีที่ 69 และยังเป็นหนึ่งในบริษัทประกันภัยที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจที่มีความมั่นคงด้านการเงิน ล่าสุดข้อมูลอ้างอิงสรุป ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้เผยให้เห็นว่าบริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 37.88% อยู่ที่ 16,300 ล้านบาท และมีรายได้เบี้ยประกันภัยตรงรับรวมเติบโตถึง 15.44% อยู่ที่ 4,540 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2563
“เคพีไอ ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตไปได้อีกมาก จึงถือเป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายของบริษัทฯ ที่จะต้องเร่งปรับกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับสิ่งใหม่นี้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดที่มีการแข่งขันสูง มีเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เคพีไอจึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เข้าถึงง่ายบนแพลตฟอร์มดิจิทัล การพัฒนาช่องทางการขายบนระบบออนไลน์ การพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้าใหม่ ๆ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจองค์กร ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่กับการสร้างคุณค่า ดูแลคนในสังคม คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายของการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน” ดร. พงษ์ภาณุ กล่าวสรุป