โลตัส โดยนายมนต์ชัย อินทรพรอุดม กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคกลางและกรุงเทพฯ โลตัส ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โลตัส กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในการลดปริมาณขยะอาหารให้เป็นศูนย์ โดยนำอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังสามารถรับประทานได้ของโลตัส ส่งต่อให้กับหน่วยงานหรือองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อนำไปแจกจ่าย แบ่งปันให้กับผู้ยากไร้ รวมถึงนำไปเป็นอาหารสัตว์และนำไปผลิตปุ๋ยหรือก๊าซชีวภาพ เพื่อลดขยะอาหารและเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” และเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์และโลตัสในการลดปริมาณขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573
นายมนต์ชัย อินทรพรอุดม กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคกลางและกรุงเทพฯ โลตัส กล่าวว่า “โลตัส มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์โครงการอาหารปันสุข กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการลดขยะอาหาร โดยโลตัส เป็นผู้ส่งต่ออาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังสามารถรับประทานได้ เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด และอาหารปรุงสำเร็จ ให้กับหน่วยงานและมูลนิธิเพื่อนำไปบริจาคให้ผู้ที่ยากไร้ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ หรือปุ๋ยชีวภาพต่อไป ช่วยลดปริมาณขยะอาหารและเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด”
“การร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในโครงการอาหารปันสุข จะช่วยขับเคลื่อนการบริจาคอาหารส่วนเกินให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้น ยังจะช่วยสร้างการตระหนักรู้และความร่วมมือในภาคประชาชนและสังคมในการลดขยะอาหาร สอดคล้องกับเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์และโลตัส ในการลดขยะอาหารภายในธุรกิจของเราให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ โลตัส ได้เริ่มดำเนินโครงการลดขยะอาหาร (Food Waste) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกที่ริเริ่มโครงการลดขยะอาหาร ทั้งในระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และระดับนโยบาย ผ่านการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน (Target) การวัดและเปิดเผยข้อมูล (Measure) และการบริหารจัดการเพื่อลดขยะอาหาร (Act) โดยมีการบริจาคอาหารไปแล้วกว่า 2.8 ล้านมื้อ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564) และโลตัสจะยังคงเดินหน้าลดและขับเคลื่อนการลดขยะอาหารต่อไป”
นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือ ‘อาหารส่วนเกิน’ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในวันนี้จึงได้จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดปริมาณขยะอาหารจำนวนมหาศาลนี้ได้ ผมจึงขอเชิญชวนร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ร่วมกันขับเคลื่อน ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังรับประทานได้หรือเรียกว่า ‘อาหารส่วนเกิน’ ที่อาจเหลือจากการจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ อาหารสด หรืออาหารปรุงสำเร็จ ส่งต่อให้กับหน่วยงานหรือองค์กรไม่แสวงกำไร นำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ลดขยะหรือของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste) นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศ เป็นการปฏิวัติรูปแบบ การใช้พลังงานและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากร นำไปสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการแสดงความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เพื่อมุ่งลดการเพิ่มของปริมาณขยะอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า ‘อาหารส่วนเกิน’ ส่งต่อให้กับมูลนิธิรับบริจาคอาหารนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ในสวนสัตว์ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้ง 7 แห่ง คือ 1. สวนสัตว์เขาดิน (แห่งใหม่) 2. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว 3. สวนสัตว์เชียงใหม่ 4. สวนสัตว์นครราชสีมา 5. สวนสัตว์สงขลา 6. สวนสัตว์อุบลราชธานี และ 7. สวนสัตว์ขอนแก่น, อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 154 แห่ง รวมทั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่จะนำอาหารที่ยังรับประทานได้ไปเป็นอาหารสัตว์ในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยทั้ง 2 แห่ง คือ 1. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง และ 2. โรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ หรือนำอาหารที่เสื่อมสภาพแล้วไปหมักทำปุ๋ยชีวภาพ ใช้ภายในพื้นที่ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในอุปถัมภ์ฯ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยลดขยะอาหารได้ และจะขยายความร่วมมือไปยังภาคีภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วยแนวคิด ‘ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’”
Related