‘ญี่ปุ่น’ เล็งกระตุ้น ‘คุณพ่อ’ ใช้สิทธิ์ ลาคลอด” เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ลดปัญหาอัตราเกิดต่ำ

ญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่หนักหน่วง จนระยะหลัง ๆ ภาคเอกชนก็เริ่มมีการทดลองให้ทำงานแค่ 4 วัน/สัปดาห์ หรือฝั่งรัฐบาลเริ่มพยายามสร้างวัฒนธรรมหรือบรรยากาศใหม่ ๆ โดยล่าสุดได้พยายามกระตุ้นให้ คุณพ่อลาคลอด 1 ปี เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก เพื่อให้พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงด้วย

เชื่อว่าทั่วโลกจะต้องมีวัน ‘ลาคลอด’ ให้กับพนักงานหญิงที่กำลังจะเป็นคุณแม่ แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ใช่แค่คุณแม่เท่านั้นที่สามารถใช้วันลานี้ได้ แต่ ‘คุณพ่อ’ เองก็สามารถลาเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้เช่นกัน โดยสามารถลาได้เท่ากันคือ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยในปี 2021 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 9 แสนคน และแม้จะมีวันหยุดลาคลอดถึง 1 ปีให้กับคุณสามี แต่อัตราการลาเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกก็ยังต่ำอยู่ โดยอยู่แค่เลขหลักเดียวมานานเป็นสิบปี จนกระทั่งในปี 2020 ที่เพิ่มเป็น 12.65% อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวเป็น 30% ภายในปี 2025

โดยตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป รัฐบาลได้ออกคำสั่งในบริษัทเอกชนทุกบริษัทต้องแจ้งให้พนักงานทราบถึงวันลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตรรวมถึงในพนักงานชายด้วย เพื่อทำให้การลาของเหล่าคุณพ่อ เป็นเรื่องง่ายสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมา เหล่าคุณพ่อมือใหม่มักจะไม่กล้าหยุดเนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานในญี่ปุ่น

จุนจิ ไซโตะ พนักงานบริษัทอายุ 44 ปี มีลูก 5 คน ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเขาเคยทิ้งภาระการเลี้ยงลูกไว้กับภรรยาเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่ 5 แล้วบอกเขาว่า “ฉันจะตายถ้าสิ่งต่าง ๆ ยังคงเป็นแบบนี้” ทำให้ไซโตะ ตัดสินใจลาคลอด 1 ปี ซึ่งสิ่งที่เขาได้รับคือ ความเย็นชาจากคนในที่ทำงาน เจ้านายและเพื่อนร่วมงานของเขาไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนการลางาน เนื่องจากผู้ชายในบริษัทลางานได้ไม่เกินสองสามวัน

ในญี่ปุ่นมีบริษัท Hey Inc. ซึ่งเป็นบริษัทไอทีในโตเกียวที่สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน มีรายงานว่า 85.7% ของพนักงานชายที่มีลูกลางานในปีงบประมาณ 2020 โดยพนักงานของบริษัทแชร์ปฏิทินออนไลน์และป้อนเวลาที่พวกเขาจะไปรับลูกหรือเวลาที่พวกเขาจะเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนหรือกิจกรรมอื่น ๆ อีกทั้ง พวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมทางไกลกับลูก ๆ ของพวกเขาในขณะที่ต้องทำงานนอกสถานที่

ชิโฮะ คาโต้ พนักงานของ Hey กล่าวว่า “ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูเด็กเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลผู้สูงอายุหรือคนป่วยด้วย เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราเคารพซึ่งกันและกันในขณะที่เราทำงาน ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น” เธอกล่าวเสริม

Source