ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2554 สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) อย่าง Twitter และ Facebook เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการหาเสียงให้กับนักการเมือง แต่สื่อออนไลน์แบบนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้านักการเมืองไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธี แทนที่จะได้คะแนนเสียง อาจจะสูญเสียคะแนนเสียงและภาพลักษณ์ไปได้ง่าย ๆ ต่อไปนี้คือบัญญัติสิบประการ สำหรับนักการเมืองในการใช้ Twitter & Facebookให้ประสบผลสำเร็จ
- ศึกษาวิธีการเล่นด้วยตนเอง : เป็นข้อแรกที่สำคัญที่สุด แม้ตอนแรกอาจจะยังไม่ค่อยคล่องนัก อาจมีทีมงาน หรือเพื่อนฝูงที่เคยเล่นมาสอน ค่อยๆ ขยับเล่นไป แม้ต่อไปอาจไม่มีเวลามาเล่นเอง แต่ถ้าเข้าใจวิธีการและหลักการเล่น ก็สามารถบอกทีมงานให้เขียนข้อความที่เหมาะสมถูกต้องกับจริตของคนบนSocial Networkได้
- รู้จักกลุ่มเป้าหมาย : การใช้ Social Networkไม่ว่าจะเป็นTwitterหรือFacebookเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่า เราต้องการสื่อสารกับคนกลุ่มไหน? กลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง หรือกลุ่มนักการเมืองด้วยกัน หรือ กลุ่มสมาชิกพรรค ถ้าเรามองภาพกลุ่มเป้าหมายออกมาได้ชัด เราจะกำหนดวิธีการสื่อสาร หรือรูปแบบการเขียนข้อความลงบนTwitter & Facebookได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- เนื้อหาที่อยู่ในความสนใจ : เมื่อเราทราบว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงแล้ว ก็สามารถกำหนดเนื้อหาที่จะเขียนลงในTwitterหรือFacebookเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและบุคลิกของเรา และต้องถ่วงดุลน้ำหนักให้เหมาะสมระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงาน ถ้าจะเขียนเรื่องส่วนตัวควรจะสะท้อนภาพ คนรักครอบครัวอาจเป็นรูปกิจกรรมน่ารักๆ กับครอบครัว และถ้าเป็นเรื่องาน ควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศการทำงานที่ทุ่มเทจริงจังหรือนโยบายที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์
- ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ : ภาษาที่ใช้เขียนในSocial Networkควรเป็นภาษาที่เหมือนกับมนุษย์พูดกับมนุษย์ เป็นภาษาที่สื่อสารเข้าใจกันได้โดยง่าย ไม่ควรใช้ภาษาเขียนหรือภาษาราชการหรือศัพท์แสงวิชาการในการสื่อสาร แต่คงความสุภาพไว้ ไม่หยาบคาย หรือตอบโต้ด้วยอารมณ์
- มีการสื่อสาร2ทาง : ในการเข้าสู่แวดวงของSocial Networkนั้น นักการเมืองจำเป็นที่จะต้องพูดคุยหรือ เขียนข้อความเพื่อสื่อสารกับบรรดาสมาชิกหรือแฟนคลับในโลกTwitterและFacebook บ้าง ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ เป็นแค่การสื่อสารทางเดียว ที่นักการเมืองจะใช้ Social Networkของตน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ต้องการบอก (แต่ไม่แน่ใจว่า คนอื่น ต้องการฟังหรือเปล่า?) ขณะเดียวกันเมื่อมีคำถามหรือการแสดงความคิดเห็นจากบรรดาสมาชิกหรือคนที่ติดตาม กลับไม่เห็นนักการเมืองออกมาไขข้อสงสัยหรือตอบคำถามผ่านSocial Networkแต่อย่างใด ทำให้ใช้ Social Networkของนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะสื่อสารแค่ทางเดียว
- รูปภาพและวิดิโอคลิป แทนคำได้เป็นพันคำ : นักการเมืองควรใช้ ประโยชน์จากรูปภาพและวิดิโอคลิป ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถใช้ โทรศัพท์มือถือ ถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอ แล้วนำภาพอัพโหลดขึ้นไว้ในYouTubeจากนั้นก็ใส่ลิงค์ไว้ในTwitterหรือFacebookให้ผู้คนเข้าไปรับชมได้สบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจกรรมทางการเมืองการหาเสียง ในพื้นที่ต่างๆ การใช้รูปภาพกับวิดีโอคลิป จะทำให้ผู้อ่าน ได้เห็นภาพชัดเจนกว่า การเขียนแค่เพียงตัวอักษร
- ควรมีกิจกรรมในโลกออฟไลน์ : นอกเหนือจากการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ในSocial Networkแล้ว นักการเมืองจะต้องดึงคนในโลกออนไลน์เหล่านั้น ออกมาสู่โลกออฟไลน์ ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้สาวกแฟนคลับหรือผู้สนับสนุนท่านในโลกSocial Networkได้ออกมาพูดคุยและสัมผัสกับตัวเป็นๆ ของท่านอาจจะเป็นปาร์ตี้เล็กๆ แบบสบายๆ เป็นกันเอง เพราะกิจกรรมเช่นนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของท่านกับผู้สนับสนุนท่านบนSocial Networkแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและขยายวงกว้างยิ่งขึ้น
- หมั่นตรวจสอบ อัพเดต ข้อความ ทุกที่ทุกเวลาที่มี : เสน่ห์อย่างหนึ่งของSocial Networkคือการที่มีข้อมูลข่าวสารหรือเรื่องราวต่างๆ ที่สดใหม่ และน่าสนใจให้อ่านอยู่เสมอ และด้วยเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันนี้ที่สามารถใช้ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ และ เข้าถึงTwitter & Facebookได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้สามารถส่งข่าวสาร รูปภาพและวิดีโอคลิปผ่านSocial Networkได้โดยง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะคอยตรวจสอบว่ามีใครส่งข้อความหรือเขียนถามมาถึงเรา และควรรีบตอบกลับไป เพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบ2ทางด้วย
- ควรเชื่อมโยงและไปในทางเดียวกันกับSocial Networkอื่นๆ :นักการเมืองอาจจะมี Social Networkมากกว่าหนึ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นTwitter FacebookหรือBlogสิ่งสำคัญคือความสอดคล้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ เนื้อหา บุคลิก รูปภาพ โลโก้ หรือ โทนสีต่างๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นรูปเดียวกัน แต่มีความสอดคล้องแบบมองแว่บเดียวก็รู้ว่าเป็นของเจ้าของเดียวกัน อีกทั้งควรจะมีการใส่ลิงค์หรือเชื่อมโยงเข้าหากันและกันด้วย ถ้ามีเว็บไซต์ หรือSocial Networkของพรรคที่สังกัดอยู่ก็ควรนำมาเชื่อมโยงไว้ในSocial Networkด้วย
- ไม่พร้อม…ก็ไม่ต้องเล่น “เสียมากกว่าดี” : หลังจากอ่านมาทั้ง9ข้อแล้วถ้านักการเมืองท่านใดพบว่าท่านเองยังไม่สามารถปฏิบัติได้ในบางข้อ หรือยังหาความชัดเจนในตนเองไม่พบ ขอแนะนำว่า อย่าเพิ่งเข้าสู่โลกของSocial Networkเพราะโอกาสที่ท่านจะได้รับผลเสียจะมีมากกว่าผลดี อีกทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ของท่านในโลกSocial Networkแย่ลง และการแก้ไขภาพลักษณ์จะทำได้ยากกว่าการสร้างภาพลักษณ์ ดังนั้นถ้ายังไม่พร้อมแนะนำว่า ไปเตรียมตัวให้พร้อมก่อนหรือหาที่ปรึกษามือดีที่มีความเข้าใจมาเป็นโค้ชให้ แล้วค่อยลงสนามSocial Networkครับ