ปัจจุบัน เทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในระดับโลกไม่ได้จำกัดอยู่แค่นวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมโครงข่ายอย่าง 5G แต่ยังรวมไปถึงการประมวลผลคลาวด์ AI และที่สำคัญคือการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนที่นานาประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในตอนนี้ ซึ่งข้อมูลจากงานประชุมประจำปี World Economic Forum (WEF) ระบุว่าเทคโนโลยีไอซีทีจะมีส่วนช่วยภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 12,000 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2573 และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานได้ถึง 1,800 ล้านตันจากด้านการผลิตพลังงานเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ยังคาดการณ์ว่าการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังจะช่วยลดต้นทุนการผลิตพลังงานในแต่ละปีได้มากถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2583 ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทผู้นำเทคโนโลยีอย่าง “หัวเว่ย” หันมาให้ความสำคัญกับส่วนธุรกิจ “ดิจิทัลพาวเวอร์” อย่างเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของทิศทางธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ และการลงทุน เพื่อตอบรับอนาคตของโลกแห่งความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
ในประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ได้ตั้งส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยมีจุดประสงค์เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยในระดับโลก ซึ่งก็คือการสร้างนวัตกรรมในการผลิตพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านพลังงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล การผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการควบรวมพลังงานอัจฉริยะ โดยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ของหัวเว่ยได้ช่วยลูกค้าผลิตพลังงานสะอาดไปแล้วกว่า 482,900 พันล้านกิโลวัตต์ และช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าไปแล้วกว่า 14,200 พันล้านกิโลวัตต์ ซึ่งถือว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้มากกว่า 230 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 320 ล้านต้น
ภายในงานประชุม Huawei Global Analyst Summit (HAS) 2022 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้เปิดเผยถึงเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงงาน Southern Factory Rooftop Smart PV Plant ที่ติดตั้ง ณ สำนักงานใหญ่หัวเว่ย เมืองตงกวน เสินเจิ้น ประเทศจีน โดยระบบดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าสูงสุดได้ถึง 17 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงในรอบหนึ่งปี โดยเทคโนโลยีที่ว่านี้จะมุ่งเน้นการส่งมอบคุณค่า 3 ประการให้แก่ลูกค้าคือ ด้านความปลอดภัย ด้านกำลังการผลิตที่มากขึ้น และประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังมีระบบป้องกันการเกิดประกายไฟ (Ach)ของไฟฟ้าด้วย AI ช่วยให้อินเวอร์เตอร์บันทึกและระบุลักษณะคลื่นสัญญาณรบกวนของการอาร์ค (Ach) ระหว่างการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยิ่งมีการใช้งานอินเวอร์เตอร์มากเท่าไร ระบบก็จะยิ่งฉลาดและปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ หัวเว่ยยังใช้ระบบ AI ในการสร้างผังการจัดวางแผงพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเหมาะสมแบบอัตโนมัติ ภายในเวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น และเมื่อนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมของสถานที่จริง ระบบจะสามารถติดตามผลเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยพลังงานแสงอาทิตย์ได้ทั้งนี้ หัวใจสำคัญในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับหัวเว่ยคือ การเป็นองค์กรที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เน้นเรื่องพลังงานไฟฟ้า และการปรับตัวเป็นองค์กรอัจฉริยะ ซึ่งทำให้ส่วนดิจิทัลพาวเวอร์ของหัวเว่ยให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตพลังงาน ด้านการใช้พลังงาน และการกักเก็บพลังงาน โดยในด้านการผลิตพลังงาน หัวเว่ยจะพัฒนาระบบสำหรับพลังงานสะอาดซึ่งจะเน้นเทคโนโลยีสำหรับพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และการกักเก็บพลังงาน เป็นต้น สำหรับด้านการใช้พลังงาน หัวเว่ยจะเน้นโปรโมทเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยโซลูชัน DriveONE รวมทั้งโซลูชันไอซีทีสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพ และมีความชาญฉลาด ส่วนในด้านการกักเก็บพลังงาน หัวเว่ยจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI บิ๊กดาต้า คลาวด์ และอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งเพื่อสร้างระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ
นายเคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ยังได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน HAS 2022 เกี่ยวกับแนวคิดด้านนวัตกรรมของหัวเว่ยและการสร้างโลกอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมว่า “หัวเว่ยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของเรา ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบด้วยระบบดิจิทัลอัจฉริยะ และช่วยสร้างโลกคาร์บอนต่ำ สิ่งเหล่านี้คือกุญแจสำคัญสู่การเติบโตขององค์กรในอนาคต โดยหัวเว่ยจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอน กำหนดนิยามใหม่ของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยี AI ระบบคลาวด์และศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน พัฒนาโซลูชันคาร์บอนต่ำระดับระบบสำหรับโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเน้นไปที่สถานีไร้สายและศูนย์ข้อมูลต่างๆ รวมถึงมุ่งดำเนินการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ เราจะไม่หยุดสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าและสังคม เราตั้งตารอที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าและพันธมิตรเพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เผยแพร่รายงานการพัฒนาสีเขียวแห่งปี พ.ศ. 2573 (Green Development 2030 Report) ภายในงานประชุม HAS 2022 โดยถือเป็นรายงานฉบับล่าสุดภายใต้รายงานโลกอัจฉริยะ พ.ศ. 2573 (Intelligent World 2030) ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตของของหัวเว่ย และยังถือเป็นแผนแม่บทสู่การพัฒนาภายในอุตสาหกรรมไอซีที รวมไปถึงแนวทางเพื่อช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรมและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่หัวเว่ยได้รวบรวมไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอีกกว่า 100 คน และองค์กรภายนอกอีกกว่า 30 แห่ง ซึ่งมีทั้งองค์กรภาครัฐ สมาคมอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย และองค์กรเอกชน
สำหรับในตลาดประเทศไทย นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าการพัฒนาสีเขียวจะเป็นการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นการรับประกันความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไปพร้อมกัน เขาได้เน้นย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล (Digitalization) คือกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวและการเติบโตของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยในอนาคตเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ 5G, คลาวด์และ AI จะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีจะมีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นกุญแจสําคัญสําหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ถึงขั้นที่สามารถกล่าวได้ว่าหากไม่มีดิจิทัล ก็ไม่มีความยั่งยืน
“สำหรับประเทศไทยที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่มีวิสัยทัศน์ในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ในปี พ.ศ. 2608 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจำเป็นต้องเริ่มจากภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็น 3 อันดับแรกของประเทศ ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน (37%) การขนส่ง (29%) และภาคอุตสาหกรรม (28%) โดยตั้งแต่หัวเว่ยได้ก่อตั้งส่วนธุรกิจใหม่อย่างดิจิทัลพาวเวอร์ โซลูชัน PV และไซต์พลังงานอัจฉริยะของหัวเว่ยก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดเราได้เปิดตัวสายผลิตภัณฑ์โซลูชันอุตสาหกรรม Smart PV ชั้นนำที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบดิจิทัล “FusionSolar Residential Smart PV” สำหรับครัวเรือนไทยครั้งแรก โดยผสานรวม AI และคลาวด์เข้ากับ PV เพื่อการสร้างพลังงานที่เหมาะสม รวมทั้งมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยที่ยั่งยืนในอนาคต” นายอาเบลกล่าว
หัวเว่ยมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย และต้องการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเป็นเป็นเหตุผลให้หัวเว่ยเปิดตัวกลุ่มธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์สำหรับให้บริการลูกค้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นผู้นำในด้านโซลูชันพลังงานสีเขียว พันธมิตรชั้นนำด้านไอซีที และผู้พลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัล หัวเว่ยจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้พลังงานหมุนเวียน ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อทำให้โลกของเราเป็นสถานที่ที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งนำดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร โดยหัวเว่ยจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นดิจิทัล สะอาดอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน