บ้านปู เพาเวอร์ เผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2565 สดใสพร้อมรักษาประสิทธิภาพการเดินเครื่องผลิตในโรงไฟฟ้าทุกแห่ง

  • กำไรสุทธิ 2,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้านาโกโซในญี่ปุ่น และรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา
  • สามารถดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่สอดรับกับตลาดไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ พร้อมมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ผันผวน
  • มุ่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีพลังงาน (Greener Energy & Energy Technology) สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยกำลังผลิตปัจจุบันรวม 3,265 เมกะวัตต์เทียบเท่า สู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ในปี 2568

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลการดำเนินงาน ไตรมาสแรกของปี 2565 ด้วยกำไรสุทธิ 2,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 3,641 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีน สามารถจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำได้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 30 และร้อยละ 22 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ด้วยความสำเร็จของการลงทุนในโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น ทำให้ BPP รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจำนวน 238 ล้านบาท รวมถึงมีรายได้จากการขายไฟฟ้าจำนวน 1,294 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย ยังคงรักษาเสถียรภาพในการดำเนินงานได้ แม้ว่าในไตรมาสนี้โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนเพื่อรักษาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2565 BPP ยังสามารถสร้างการเติบโตของเมกะวัตต์คุณภาพจากการขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นอีก 62 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตรวม 3,265 เมกะวัตต์เทียบเท่า พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของ BPP ในภาพรวมของไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง ด้วยความสามารถในการปรับตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมืองในยุโรปและการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ มีมาตรการในการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีเพื่อรับมือกับสภาวะราคาต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์และราคาเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกลยุทธ์การจัดซื้อถ่านหินแบบรวมศูนย์ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั้ง 3 แห่งในจีน รวมถึงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่การันตีถึงกระแสเงินสดที่บริษัทฯ จะได้รับอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

สำหรับโรงไฟฟ้านาโกโซในญี่ปุ่น สามารถสร้างส่วนแบ่งกำไรให้กับบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของประเทศญี่ปุ่นตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาวให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา ก็มีโอกาสสร้างกำไรในการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากการขายไฟในตลาดซื้อ-ขายแบบเสรี ผนวกกับมีรายได้จากการทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าล่วงหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจถึงผลตอบแทนที่ดีและกระแสเงินสดที่มั่นคง ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยรวมแล้ว BPP ยังคงรักษาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน (Operational Excellence) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม”

BPP ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG) พร้อมแสวงหาโอกาสลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการไฟฟ้าสูง มีสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย รวมถึงมีนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน โดยจะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสามารถ ในการสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยในไตรมาสที่ผ่านมา ได้ขยายกำลังผลิตในพอร์ตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 62 เมกะวัตต์ จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ชิราคาวะในญี่ปุ่น การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในเวียดนาม ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า ชูง็อก (Chu Ngoc) โรงไฟฟ้าน็อนไห่ (Nhon Hai) รวมถึงการลงทุนใน Solar Esco Joint Stock Company บริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนามที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร เพื่อขยายธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในเวียดนาม

สำหรับไตรมาส 1/2565 บ้านปู เพาเวอร์ มีรายได้รวมมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในจีน จำนวน 2,567 ล้านบาท และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้า จำนวน 773 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้า เอชพีซีและโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt to Equity: Net D/E)  ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ 0.22 เท่า

“ปัจจุบัน BPP ได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนี SET100 และดัชนี SETHD ตอกย้ำถึงการเป็นหลักทรัพย์ที่จ่ายเงินปันผลย้อนหลัง 3 ปีอยู่ในเกณฑ์ดี พื้นฐานดี มีสภาพคล่อง สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายหุ้นทั้งหมดใน Sunseap Group Pte, Ltd. เสร็จสิ้นแล้ว ทำให้สามารถสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจและขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ในโครงการที่มีศักยภาพในอนาคตที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็ว” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจของบ้านปู เพาเวอร์ ได้ที่ www.banpupower.com

ข้อมูลโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ ณ วันที่ 30 เมษายน 2565

โรงไฟฟ้าและ
โครงการโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการ
เชิงพาณิชย์
โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
จำนวน (แห่ง/โครงการ) 42 40 2
กำลังผลิตตามสัดส่วน
การลงทุน (เมกะวัตต์)
3,265 3,146 91

เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ด้วยจุดยืนการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน  (We ARE Power for the Sustainable World)  ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568  สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 76,205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,339 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมปีก่อน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564