LINE BK ระบุ 3 เทรนด์มาแรง ที่จะเปลี่ยนโลกการเงิน พร้อมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล ได้แก่ 1. FINTEGRATION การเชื่อมโยงโลกการเงินกับเทคโนโลยีรอบข้าง 2. FINCOSYSTEMS ระบบนิเวศน์ที่มาต่อกับโลกการเงิน และ 3. FINCLUSIVITY การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม พร้อมเผยคนไทยเข้าไม่ถึงสินเชื่อถึง 67% เหตุไม่มีรายได้ประจำ แบงก์ขาดข้อมูล ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบดอกเบี้ยสูง อันตรายอาจต้องติดกับดักหนี้ตลอดชีวิต
ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ Social Banking รายแรกในเมืองไทย “LINE BK” เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Digital Fast Forward อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ในหัวข้อ Digital Transformation Empower your Business ว่าการทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกดิจิทัลเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้โมบายแบงกิ้งที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยสิ้นปี 2564 มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 70 ล้านบัญชี ดังนั้น เทคโนโลยีทางการเงินจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงจะทำให้การใช้ชีวิตทางการเงินง่ายขึ้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญที่เอื้อให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และมีผลต่อการการเติบโตของเศรษฐกิจ
โลกวันนี้กำลังขับเคลื่อนผ่าน 3 เทรนด์ทางการเงิน ได้แก่ เทรนด์แรก FINTEGRATION (Finance + Integration) การเชื่อมโยงการเงินเข้ากับเทคโนโลยี ภาคการเงินได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันที่ดุเดือดในอดีต ก้าวสู่การ Featuring หรือการร่วมมือกันมากขึ้น โดยปัจจุบันมีบริการทางการเงินจำนวนมาก เช่น การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด และการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งเบื้องหลังเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานของสตาร์ทอัพ หรือแพลตฟอร์มร่วมกับธนาคาร มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วย โดย “LINE BK” ภายใต้การร่วมมือของธนาคารกสิกรไทย และแพลตฟอร์มอย่าง LINE เองนั้นก็ถือเป็นการ Featuring แบบหนึ่ง
เทรนด์ FINCOSYSTEMS (Finance + Ecosystems) ระบบนิเวศที่มาเชื่อมต่อกับโลกการเงิน วันนี้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่เป็นบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และอยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิต ผู้ให้บริการจะเป็นฝ่ายนำบริการทางการเงินไปเสนอแก่ลูกค้า อาทิ การนำบริการทางการเงินเข้ามาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น เช่นเดียวกับ LINE BK ที่นำการเงินมาอยู่บนโลกโซเชียล ในแอปพลิเคชันแชท LINE เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก และมีความใกล้ชิดกับไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากขึ้น
สุดท้ายเทรนด์ FINCLUSIVITY (Finance + Inclusivity) การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ จากสถิติการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรไทย พบว่ามีเพียง 18% ที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร แต่บริการทางการเงิน ไม่ใช่แค่การเปิดบัญชีธนาคารเท่านั้น ยังมีบริการอื่นอีกมากมาย เช่น สินเชื่อ การลงทุน และประกัน เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคที่ยังเข้าไม่ถึงบริการดังกล่าว มีอีกกว่า 45% โดยกลุ่มนี้เรียกว่ากลุ่ม Underbanked ดังนั้น เทคโนโลยีทางการเงินจะเข้ามาเป็นตัวช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น และมีความเท่าเทียมมากขึ้นได้
ยกตัวอย่างปัญหาคนไทยจำนวนมากที่เข้าถึงสินเชื่อยาก ซึ่งมาจากลักษณะการประกอบอาชีพที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ค้าขายออนไลน์ ไม่มีรายได้ประจำ ธนาคารไม่มีข้อมูลทางการเงิน ทำให้เข้าถึงสินเชื่อยาก เพราะถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 67% ขณะที่มีเพียง 33% ของผู้บริโภค มีประวัติเครดิตบูโรช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อหรือบริการทางการเงินได้
สำหรับคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อจะหันไปพึ่งพาการกู้นอกระบบ จากสถิติพบว่าคนไทยพึ่งพาหนี้นอกระบบเกือบ 10% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทยที่มีอยู่ในกว่า 10 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าคนไทยมีหนี้นอกระบบมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก และที่น่ากลัวที่สุด คือ สินเชื่อนอกระบบมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแพง อาจสูงถึง 20% ต่อเดือน ในขณะที่การกู้ในระบบจะคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 18-33% ต่อปี ดังนั้นหากไม่เข้าใจกลไกของหนี้นอกระบบอย่างลึกซึ้ง อาจต้องติดกับดักหนี้ไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตามปัญหานี้สามารถแก้ไขด้วยเทคโนโลยี เช่น AI ที่เป็นส่วนสำคัญ ทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินมีข้อมูลใหม่ ๆ ในการใช้พิจารณาให้สินเชื่อมากขึ้น สำหรับ LINE BK เอง ได้มีการนำข้อมูลทางเลือก บน LINE มาใช้ประกอบ เพื่อให้สามารถเข้าใจลูกค้าและเข้าใจความเสี่ยงลูกค้าได้มากขึ้น รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น
“ในวันนี้เราเห็นผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึง LINE BK ขับเคลื่อนการให้บริการไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการทรานสฟอร์มตัวเองได้เร็ว อย่างไรก็ตามมองว่าทั้ง 3 เทรนด์ 1. FINTEGRATION 2. FINCOSYSTEMS และ 3. FINCLUSIVITY เป็นสิ่งที่เราจะเห็นในโลกการเงินในอนาคตมากขึ้นอย่างแน่นอน” ธนา กล่าวทิ้งท้าย