Mitsubishi Electric ร่วมกับ อีอีซีพร้อมทั้งพันธมิตรเครือข่าย Ecosystem ไทย-ญี่ปุ่นจัดงาน EEC Connecting Thailand and Japan Collaboration 2022 แถลงความสำเร็จจากการต่อยอดความร่วมมือเชื่อมโยงพันธมิตรกว่า 60 บริษัทในไทย และมากกว่า 1,000 บริษัททั่วโลก ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งแชร์ประสบการณ์จริงจากการใช้งานเพื่อปลดล็อกภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้เข้าสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติ e-F@ctory (Industry 4.0 + 5G utilization) เดินหน้าพัฒนาสู่โรงงานอัจฉริยะกว่า 10,000 แห่ง พัฒนาทักษะบุคลากร 50,000 คน เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทใน 3 ปี ยกระดับอีอีซี สู่พื้นที่ลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง เสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมตั้งเป้าก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Digitalizing and Decarbonizing เพื่อให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรลุเป้าความสำเร็จเชิงรูปธรรมตามนโยบาย Industry Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยได้เร็วขึ้น โดยมีบุคคลสำคัญทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน และออนไลน์รวมกว่า 500 ราย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประธานในพิธี กล่าวเปิดงานว่า “ผมขอแสดงความยินดี และขอบคุณในความร่วมมืออย่างดีเสมอมา ระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย โดยมี อีอีซีเป็นสะพานเชื่อมและสนับสนุนการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศในโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และครบรอบ 10 ปีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต ทั้งความเชื่อมโยงด้าน Supply Chain การร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG1สร้างสังคมสีเขียว ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonization) และรวมถึงการส่งเสริมการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitization) เพื่อมุ่งสู่การค้าการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนการร่วมมือด้านสาธารณสุข แม้ว่าปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19จะเริ่มผ่อนคลาย และเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา แต่ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกจากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน เกิด Supply chain disruption ในภูมิภาค จึงเป็นอุปสรรคและความท้าทายของภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตและขนส่ง โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่ผันผวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้พยายามลดภาระ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ยังต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงจำเป็นต้องปรับตัว พัฒนากระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ เพื่อบริหารต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มมูลค่า ให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว จึงต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ 5G การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ร่วมกับระบบออโตเมชัน หุ่นยนต์ และอื่น ๆ มาช่วยเสริมดังนั้น ความพยายามของ อีอีซี ร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น JETRO และภาคเอกชนญี่ปุ่น นำโดยกลุ่ม Mitsubishi Electric และความพร้อมของเครือข่ายเจ้าของเทคโนโลยี และผู้พัฒนาให้บริการโซลูชัน หรือ System Integrators ในงานนี้นั้น จึงนับเป็นกลไกสำคัญต่อการสนับสนุนการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Industry Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย ที่สอดคล้องกับข้อริเริ่ม Investing for the future ของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ไปข้างหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน”
ด้าน นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเผยว่า “ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยประมาณ 6,000 บริษัท ซึ่งการลงทุนของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยนั้น ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ทั้งด้านปริมาณการลงทุนและมูลค่าการลงทุนโดยอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็นสัดส่วนราว 40% จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของบริษัทไทยและบริษัทญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต โดยเน้นอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก โดยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นเวทีสำคัญของการพัฒนาปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตกำลังก้าวเข้าสู่รูปแบบใหม่ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบ “Digital” และ “Green” ด้วยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้ในหน้างานผลิต เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบก้าวกระโดด และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านการตลาด จะช่วยขยายห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โดยคำนึงถึงธุรกิจแบบ “B to B to C” ด้วยดังนั้นองค์ความรู้ของบริษัทญี่ปุ่น ด้าน Factory Automation ใน “EEC Automation Park” ณ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งจัดตั้งโดยบริษัทMitsubishi Electric ซึ่งเป็นผู้จัดงานวันนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและภาครัฐของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นพร้อมจะสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ. 2593 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608โดยให้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยความเชี่ยวชาญพิเศษในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เช่น รถไฮบริด (HV) หรือ อีโคคาร์ ให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ในด้านแบตเตอรี่ EV ผู้ผลิตญี่ปุ่นก็คงจะช่วยนำพาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้ขับเคลื่อนไปเช่นกัน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีผู้เล่นที่มีความศักยภาพสูงอยู่มากมายในด้านพลังงานขั้นสูง เช่น ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงแอมโมเนีย CCS ฯลฯ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นด้าน “Digital” และ “Green” ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ ภาคเอกชนจะย้ายเข้าสู่ระยะลงมือปฏิบัติในฐานการผลิตที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคงจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แน่นอน”
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอ “Asia Japan Investing for Future” หรือ “AJIF (เอจีฟ)” ถือเป็นนโยบายหลักของนโยบายเศรษฐกิจเอเชียของญี่ปุ่น ซึ่งมีคีย์เวิร์ดคือ “การร่วมคิดสร้าง” (Co-Creation) ได้แก่ 1) เผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาสังคมที่อีกประเทศกำลังประสบอยู่ และนำเสนอแนวทางแก้ไขที่เห็นผลได้จริง 2) ภาครัฐและเอกชนจับมือกัน ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของภาคเอกชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน3) ร่วมคิดสร้างอนาคตของภูมิภาค ผ่านการร่วมมือกับบริษัทของประเทศพันธมิตร โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยผนึกกำลังเสริมจุดอ่อนจุดแข็งของกันและกันอย่างเท่าเทียมกัน
ขณะที่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ อีอีซี) กล่าวโดยสรุปว่า “อีอีซี ได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคเอกชนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เชื่อมโยงด้านการผลิต (Supply Chain) ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว BCG1ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และความร่วมมือด้านสาธารณสุขผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งกรอบความร่วมมือพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค เช่น กรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น และประสบผลสำเร็จในความร่วมมือกับ Mitsubishi Electricพร้อมพันธมิตรเครือข่าย ซึ่งได้พัฒนา EEC Automation Parkให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชัน สร้างความเชื่อมโยงให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factoryใช้นวัตกรรมนำการผลิต พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งได้ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ หอการค้าญี่ปุนกรุงเทพ (JCC) ชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนและผลักดันการใช้ระบบหุ่นยนต์และออโตเมชันซึ่งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้ การลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุน 5G ระบบหุ่นยนต์ออโตเมชัน ในอีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี สร้างงานรายได้ให้คนไทย และสนับสนุนให้ภาคการผลิตของไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ทัดเทียมทั่วโลกโดยตั้งเป้าหมายภายในปีนี้จะนำโรงงานอุตสาหกรรมในอีอีซี ทำงานร่วมกับธุรกิจที่ให้บริการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายและเทคโนโลยี (System Integrators) หรือ SI พร้อมสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบออโตเมชัน ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2568) ไม่น้อยกว่า 6,000 แห่ง คาดว่าไม่เกิน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ลดอัตราการเสื่อมของเครื่องจักร ลดภาระงาน ช่วยประหยัดพลังงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก สร้างรายได้ให้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
นอกเหนือจากความร่วมมือเพื่อพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล ออโตเมชันแล้ว ไทยและญี่ปุ่นยังได้ร่วมกันวางเป้าหมายเพื่อให้ อีอีซี เป็นพื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในภูมิภาค โดย นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เผยว่า “อีอีซี กับ JETRO ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผนึกกำลังสนับสนุนนโยบายที่สำคัญระดับประเทศของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มกำลัง และตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนสู่อีอีซี โดยได้จัดงาน webinar และงานจับคู่เจรจาทางธุรกิจแบบออนไลน์ภายใต้หัวข้อธุรกิจที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG1ของรัฐบาลไทย และยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลักดันการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันธุรกิจที่ยั่งยืนสู่บริษัทญี่ปุ่นและไทยและยินดีสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ระหว่างไทยและญี่ปุ่นเพื่อมุ่งสู่การลดปริมาณคาร์บอนอย่างแท้จริงรวมถึงการสร้างความแข็งแกร่ง (Resilience) ให้ห่วงโซ่อุปทานโดยนำระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และการลดจำนวนแรงงาน (Digitalization, Automation, Manpower Saving) สู่หน้างานผลิต เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ทั้งแข็งแกร่ง ที่ผ่านมา JETRO ได้สนับสนุนโครงการ “Robot Automation Project” และให้การสนับสนุนรูปแบบต่างๆเช่น “โครงการสนับสนุนการเพิ่ม supply chain ในต่างประเทศ ASEAN-JAPAN” และ “โครงการพัฒนาบุคลากร” ด้วย รวมทั้งใน “โครงการ Asia DX” โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับอาเซียน มีโครงการจากประเทศไทยได้รับเลือก 9 รายซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดในอาเซียนทั้งนี้ในส่วนของ Mitsubishi Electric ที่ริเริ่มแนวคิดe-F@ctory (Industry 4.0 + 5G model line) และร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรก่อตั้ง EEC Automation Park ณ มหาวิทยาลัยบูรพาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชันและหุ่นยนต์ เสริมสร้างทักษะเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยให้ก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยเป็นแหล่งรวมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาและเรียนรู้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล (IoT) และการใช้เทคโนโลยี 5G อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญด้านออโตเมชันให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 25 หลักสูตร”
นายโคทานิ โทโมอากิ ผู้บริหารระดับสูง รองประธานกลุ่ม Factory Automation Systems บริษัท Mitsubishi Electric Corporationเผยว่า“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลไปทั่วโลกซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของMitsubishi Electric ที่สนับสนุนระบบการผลิตตามแนวทาง “e-F@ctory” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ซึ่งใช้ระบบอัตโนมัติ (FA)และระบบสารสนเทศ(IT) ในโรงงานเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตทั้งหมดของลูกค้ามากกว่า 40,000 เคสทั่วโลกนอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือe-F@ctory Alliance Partner Association โดยประมาณ1,050บริษัททั่วโลก ครอบคลุมอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และก่อตั้งพันธมิตรในประเทศไทยในปี พ.ศ.2562 ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกราว60บริษัทซึ่งเราได้นำเสนอโซลูชันใหม่ภายใต้ชื่อ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) สำหรับนำเสนอแผนการจัดการโรงงานว่าควรใช้ระบบ IoT ในโรงงานถึงระดับไหน นอกเหนือจากนี้เรายังพร้อมให้การสนับสนุนด้านความรู้และเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเรื่องระบบอัตโนมัติ ในส่วนของการรณรงค์เรื่องความเป็นกลางของคาร์บอนซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตรถยนต์ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบอัตโนมัติและการประหยัดแรงงาน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)โดยMitsubishi Electric เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายที่มีข้อเสนอโซลูชันในด้านนี้ครบวงจร ที่รวมซอฟต์แวร์ SCADA ที่สามารถตรวจสอบจำนวนพลังงานที่โรงงานและอุปกรณ์การผลิตใช้ รวมถึงปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา และแอปพลิเคชันสนับสนุนการประหยัดพลังงาน (Eco Advisor) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งได้รับการประเมินอย่างสูงในการประกวด “Carbon Neutral” ของผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปดังนั้นการที่รัฐบาลไทยได้กำหนดรูปแบบยุทธศาสตร์ระดับชาติใหม่ “แบบจำลองเศรษฐกิจ BCG1” เพื่อให้เกิดภาวะคาร์บอนเป็นกลางในปี พ.ศ.2593 Mitsubishi Electric จึงพร้อมสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความเป็นกลางของคาร์บอนในประเทศไทยเพิ่มเติมจากบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อให้พร้อมเดินหน้าสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน”
นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ e-F@ctoryในประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ขอขอบคุณความร่วมมือของพันธมิตรเครือข่ายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างสังคม Ecosystem นำไปสู่การขยายความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในโรงงานมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย ครอบคลุมทั้งด้านระบบฮาร์ดแวร์ โซลูชัน ซอฟแวร์ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญให้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะศูนย์ EEC Automation Park ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับอีอีซีในการขับเคลื่อน และยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของไทยพร้อมทั้งทางMitsubishi Electric เอง เรามีเป้าหมายภายใน 2 – 3 ปีนี้ ที่อยากจะเดินหน้าพัฒนาโรงงานให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ กว่า 200 แห่ง และยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0 ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นหากสามารถสร้างเม็ดเงินด้านการลงทุนได้พร้อมกับการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือสังคมไร้คาร์บอนได้ นั่นคือความสำเร็จที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงาน EEC HDC ได้ให้ข้อมูลเสริมว่า “อีอีซี ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคเอกชนญี่ปุ่นอีกด้านที่สำคัญ คือ การเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน โดยขณะนี้ได้ขับเคลื่อนผ่าน EEC Automation Park ร่วมกับทาง Mitsubishi Electric และพันธมิตรเครือข่าย ซึ่งได้อบรมบุคลากรด้านระบบออโตเมชันแล้วกว่า 1,000 คน และขณะนี้ได้เตรียมอบรมอยู่ในแผน ซึ่งคาดว่าภายในปีพ.ศ.2565 นี้ จะสามารถผลิตบุคลากรทักษะสูงด้านดิจิทัลได้เพิ่มกว่า 2,000 คน”
พร้อมกันนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับกรมสรรพากร ผลักดันให้ EEC Automation Park และ FIBO เป็นศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการบริจาคและหักภาษีได้สูงสุด 100 ล้านบาท และภายในปี 2565 คาดว่าจะสามารถขยายศูนย์ส่งเสริมฯ ได้อีก 2 แห่ง รวมทั้งขยายผลความร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำข้อตกลง “ปฏิญญาวัดไตรมิตร” เพื่อร่วมกันเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรให้ได้ตามเป้าโดยเร็ว
งาน EEC Connecting Thailand and Japan Collaboration 2022 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแถลงความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศไทยของเครือข่ายที่รับผิดชอบ อาทิ ความพร้อมในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระบบการผลิตอัจฉริยะ ความพร้อมของ EEC Automation Park และเครือข่ายในการเป็นศูนย์กลางนำร่องขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0 และความพร้อมด้านหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรของคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ในการปรับปรุงทักษะความรู้ความชำนาญในระบบออโตเมชัน นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญ คือ การแบ่งปันการพัฒนา e-F@ctoryโซลูชันให้กับอุตสาหกรรมทั้งองค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตลอดจนสิทธิประโยชน์ และข้อจูงใจต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนสู่ระบบการผลิตแบบดิจิทัล รวมถึงโชว์เคสโซลูชันเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเทคโนโลยี Industry 4.0 + 5G ภายในงาน
1 BCG โมเดล เป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ ที่จะนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B : Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C : Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และสอดรับกับ G : Green Economy ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน