บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด (ARV) ร่วมกับ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (VARUNA) จัดงาน AI & Robotics Hackathon 2022: Open House เปิดตัวการแข่งขัน Hackathon ประจำปี 2565 ชวนนักศึกษา นักวิจัย นวัตกร นักเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพ ร่วมแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรขั้นสูง (AgriTech) แก้ไขประเด็นร้อนเกี่ยวกับเรื่องภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลก ไม่จำกัดแค่คนไทย รวมทีมมาได้เลยตั้งแต่ 2 – 5 คน ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมถึง 170,000 บาท พร้อมโอกาสในการร่วมงานกับ ARV รวมถึงบริษัทในเครือ
ARV และ VARUNA คือใคร แล้ว AI & Robotics Hackathon 2022 มาจากไหน
ARV หรือ AI and Robotics Ventures Co., Ltd ผู้นำด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) ของไทย ในเครือ ปตท.สผ. จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาโซลูชั่นที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและธุรกิจในโลกยุคใหม่ ขณะที่บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA เป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ ARV ที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อยกระดับและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของไทย
ดร. ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) กล่าวว่า “3 ปีที่ผ่านมา ARV มีการเติบโตทั้งในด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจนถึงกว่า 300 คน มีการลงทุนในศูนย์วิจัยและสร้างพื้นที่พัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย สำหรับครั้งนี้เรามีเป้าหมายหลักคือการช่วยแก้ไขวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลก ลดความอดอยากหิวโหย (Zero Hunger) สอดรับกับแผนการพัฒนาโลกเพื่อความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยหวังผลให้ครอบคลุมไปในทุกระดับทั่วโลก”
ด้านคุณพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (VARUNA) กล่าวว่า “ปัจจุบัน 25% ของประชากรวัยทำงานทั่วโลกต้องแบกรับภาระในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูคนจำนวนถึง 7,500 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า โลกจะต้องผลิตอาหารให้ได้ในจำนวนเท่ากับที่เลี้ยงดูคนมาตลอด 5,000 ปี VARUNA จึงตั้งมั่นในพันธกิจที่จะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ ทั้ง Data Analytics, Unmanned Aerial Vehicle (UAV), Remote Sensing และ Machine Learning (ML) มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรและส่งเสริมระบบนิเวศ บนแนวทางการผลิตอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างผลผลิตที่สูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ด้วยมุมมองเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก รวมถึงความต้องการที่จะขยายพื้นที่ในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีโซลูชั่น ทั้งสององค์กรจึงมีความตั้งใจที่จะจัดงาน AI & Robotics Hackathon 2022 การแข่งขันเพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีทักษะและความสามารถในการสร้าง Machine Learning Model สำหรับจำแนกพืชผลทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลและภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทย เตรียมรับมือกับความท้าทายจากภาวะขาดแคลนอาหารจากสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผลงานที่มีศักยภาพมากพอจะถูกนำไปพัฒนาเป็นฟีเจอร์ในแพลตฟอร์มของ VARUNA อีกด้วย
เผยเคล็ด (ไม่) ลับในการนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาการเกษตร
ล่าสุด ARV และ VARUNA ได้มีการจัดงาน AI & Robotics Hackathon 2022: Open House เพื่อเป็นการบอกเล่ารายละเอียดและโจทย์การแข่งขัน AI & Robotics Hackathon ในปีนี้ พร้อมกิจกรรมไฮไลต์การเสวนาพิเศษในหัวข้อ Reimagine the Future: How AI-ML Empowering Sustainable Agriculture ซึ่งได้รับเกียรติจาก Dr. Ravi Khetarpal Executive Secretaryสมาคมสถาบันวิจัยการเกษตรแห่งเอเชียแปซิฟิก (APAARI) และผศ.พท.ดร. สรวิศ สุภเวชย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการนำความรู้ด้านเทรนด์เทคโนโลยี AI และ ML รวมถึงแนวคิดเกษตรกรรมแบบยั่งยืนมาใช้พัฒนาเกษตรกรในประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าแข่งขัน
ดร.สรวิศ กล่าวว่า “ในปัจจุบันเรามีความท้าทายด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน และหากพูดถึงการทำเกษตรอย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงการที่เราสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้คนรุ่นหลังสามารถต่อยอดทำในแบบเดียวกันไปได้อีก 4-5 เจนเนอเรชัน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลต่อผลผลิตที่น้อยลง จึงต้องมีการนำเทคโนโลยี AI และ ML มาใช้เรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูล นำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการเกษตรแบบยั่งยืนจากฟาร์มสู่ผู้บริโภค
Buy less, Develop more. คือแนวคิดที่สำคัญ หมายถึงการมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ที่เป็นของเราเอง มากกว่าลงทุนซื้อสิ่งเหล่านั้น แนวคิดนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ด้าน Dr.Ravi ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญ ในการนำ AI มาใช้เพื่อการเกษตร ว่า “AI ควรถูกนำมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาความอดอยากหิวโหย เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง รวมถึงควรพัฒนาด้านความปลอดภัยของอาหาร การคำนวณปริมาณอาหารให้เพียงพอ ซึ่ง AI จะมีบทบาทที่สำคัญมากในอนาคต”
วิทยากรทั้งสองท่านได้กล่าวสรุปว่า ผู้เข้าแข่งขันควรทำความเข้าใจเรื่องของ AI, ML, AgriTech และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ถ่องแท้ และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ Natural Intelligence หรือภูมิปัญญาจากธรรมชาติ ที่สามารถนำมาสร้างข้อได้เปรียบในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ผู้ที่กำลังสนใจเข้าสมัครไม่ต้องกังวลเรื่องการแข่งขัน สิ่งสำคัญคือการได้ลงมือศึกษาและปฏิบัติให้มาก ก็จะได้รับผลลัพธ์ที่ดีตามมาเอง โดยทั้งสองท่านยินดีมอบคำปรึกษาให้ในการแข่งขัน Hackathon ครั้งนี้
AI & Robotics Hackathon 2022 พร้อมเปิดรับไอเดียความคิดสร้างสรรค์จากนักพัฒนาเทคโนโลยีทั่วโลก สามารถสมัครในรูปแบบทีมได้ตั้งแต่ 2-5 คน ไม่จำกัดอายุ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา สตาร์ตอัพ นวัตกร นักวิจัย ฯลฯ ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่า ตั้งแต่ 18 พฤษภาคม –7 มิถุนายน 2565 และกิจกรรมการแข่งขันจะจัดขึ้นในวันที่ 18-19 มิถุนายน 2565 และ Final pitching ในวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ชิงเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 50,000 บาท และอีก 20,000 บาทสำหรับรองชนะเลิศอันดับสอง พร้อมโอกาสสุดพิเศษในการทำงานร่วมกับ ARV และบริษัทในเครือ ARV ในอนาคต
สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกวด สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.arvhackathon2022.riseaccel.com/ หรืออีเมล [email protected]
Related