ไทยประกันชีวิตประกาศมุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืนแห่งแรกของธุรกิจประกันชีวิต วางยุทธศาสตร์ 3P ขับเคลื่อนองค์กรและสังคมให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG พร้อมเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงิน
นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (Thai Life Insurance : TLI) เปิดเผยว่า ไทยประกันชีวิตดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับบริษัทฯ และสังคมไทย โดยเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ จัดทำแผนแม่บทความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อนำใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมกว่า 10 ปี
จนถึงปี 2562 ไทยประกันชีวิตยังเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่จัดทำแผนแม่บทด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (SD Master Plan) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องกับปัจจัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพื่อให้ส่วนงานต่างๆ ของบริษัทฯ มีกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่เชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ โดยให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CRR-In Process) ผนวกกับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value :CSV) อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งต่อองค์กรและสังคม
แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการดำรงชีวิตของคนไทย ไทยประกันชีวิตจึงปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Resilience) พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ “การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน” และกำหนดเจตนารมณ์ทางธุรกิจ (Business Purpose) เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล” หรือ Life Solutions Provider รวมถึงกำหนดเจตนารมณ์ของแบรนด์ (Brand Purpose) การเป็นแบรนด์ที่ได้รับความชื่นชอบ ได้รับความไว้วางใจ และเป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่คนในสังคม
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ทบทวนและจัดทำแผนแม่บทด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน 3 ปี (ปี 2665-2567) เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในยุควิถีใหม่ หรือ New Normal และสอดคล้องกับทิศทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 P คือ
Promise การยึดมั่นคำสัญญาที่มีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน (Stakeholders) โดยเฉพาะลูกค้า ด้วยการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) พร้อมทั้งบริหารจัดการบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณ
Protect การคุ้มครองป้องกัน เป็นยุทธศาสตร์ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความรับผิดชอบ และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบเฉพาะบุคคล (Personalize) ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม การบริหารความยั่งยืนของลูกค้า รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรับผิดชอบ
และ Prosper การสร้างความรุ่งเรืองเฟื่องฟู มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและสภาพแวดล้อม ทั้งการบริหารจัดการชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
การจัดทำตามแผนแม่บทด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนดังกล่าว ยังถูกดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ UN Global Compact ขององค์การสหประชาชาติ และสอดคล้องกับบริบทของธุรกิจประกันภัย ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย 9 ด้าน ได้แก่ การขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย สุขภาวะ การศึกษาที่เท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ เศรษฐกิจและการจ้างงาน การลดความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายไชยกล่าวว่า และเพื่อให้การดำเนินการด้านความยั่งยืนสอดคล้องสถานการณ์ในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามแนวทาง ESG ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เน้นการบริหารความเสี่ยงและผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเกิดความต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อ Stakeholders ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง การจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และแผนการบริหารจัดการในภาวะภัยพิบัติ รวมถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการริเริ่มโครงการต่างๆ ที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อาทิ การนำระบบดิจิทัลมาทดแทนเพื่อลดการใช้ทรัพยากร การลดการใช้พลังงาน หรือการลดปัญหาขยะ
ด้านสังคม (Social) ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ไทยประกันชีวิตจึงดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักมนุษยนิยม ถือว่าบุคลากรเป็นทรัพย์สิน (Asset) และเป็นทุน (Capital) ที่สำคัญที่สุด มุ่งมั่นเสริมสร้างบุคลากรให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ที่พร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าและสังคม บริหารจัดการบุคลากรโดยเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความปลอดภัย และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยสอดคล้องกับระเบียบบริษัทฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่เชื่อมั่นว่าความร่วมมือ ร่วมใจ ความผูกพันเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จร่วมกัน
“บริษัทฯ มุ่ง Upskill และ Reskill รวมถึงการปรับ Mindset บุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจข้อมูล (Data Literacy) มีความเข้าใจในดิจิทัล (Digital Mindset) การทำงานแบบคล่องตัว (Agility Mindset) โดยยกระดับตัวแทนฯ ให้เป็น Life Solutions Agent พร้อมดูแลเคียงข้างลูกค้าในทุกช่วงชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle)” นายไชยกล่าว
นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองทุกความต้องการ และสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการประกันชีวิตได้ง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยวางแนวทางขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลในลักษณะ Data Driven Company นำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้องค์กรเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด (Innovation for Customer) และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการบริหารองค์กร (Innovation for Organization)
ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทฯ ยังมุ่งบริหารจัดการชุมชนและสังคมให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิต และการเสริมสร้างความรู้ด้านการประกันภัย อาทิ ริเริ่มโครงการไทยประกันชีวิตเสริมโอกาส สุขยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพรอบด้านให้กับวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ
ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ไทยประกันชีวิตดำเนินธุรกิจด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และปลูกฝังให้บุคลากรมีจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct) อาทิ การต้านทุจริต การปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ ฯลฯ ขณะเดียวกันยังตระหนักถึงการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าการนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ เป็นไปอย่างครบถ้วน โปร่งใส รวมถึงมีการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่รัดกุม
“ในฐานะสถาบันการเงิน ไทยประกันชีวิตจึงให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างโปร่งใส เป็นธรรม รวมถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รองลงมาคือด้านสังคม เพราะประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนและชุมชน แต่เราก็ไม่ลืมที่จะคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วย” นายไชยกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินนโยบายการลงทุนอย่างยั่งยืน ในลักษณะ ESG Investing ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารทุนที่พิจารณาจากปัจจัย 3R ได้แก่ ความเสี่ยง (Risk) ผลตอบแทน (Return) และผลกระทบที่บริษัทนั้นๆ มีต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม (Real Impact) โดยบริษัทฯ จัดสรรเงินสำหรับลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
“การดำเนินของบริษัทฯ ทั้งในส่วนของการริเริ่มและการปรับปรุงการดำเนินงานต่างๆ จะบูรณาการปัจจัยด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าให้กับทั้งบริษัทฯ และ Stakeholders ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้บริษัทฯ เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ประกอบด้วย 6 คุณค่า คือ สร้างคุณค่าให้ลูกค้า เป็นบริษัทประกันชีวิตที่ลูกค้าชื่นชอบ, สร้างคุณค่าคนในองค์กร เป็นองค์กรที่ห่วงใยบุคลากร, สร้างคุณค่าให้คู่ค้า เป็นบริษัทประกันชีวิตที่คู่ค้าเลือก, สร้างคุณค่าให้ผู้ถือหุ้น เป็นองค์กรที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยั่งยืน, สร้างคุณค่าให้สังคม เป็นองค์กรที่รับผิดชอบและยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างคุณค่าให้หน่วยงานกำกับดูแล เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน” นายไชยกล่าว